ผู้นำเมื่อยาม'ห่า'ลง

March 18, 2020 9581

“ชนเผ่าอนารยชนก็ยังมีผู้ปกครอง ไม่เหมือนกับดินแดนอารยะของเรา ที่กลับไร้ผู้ปกครอง”  --- ขงจื้อ (หลุนอี่ว์ เล่มที่ 3 บทที่ 5)

ในยามปกติ ผู้นำต้องนำให้เกิดการพัฒนา ให้องค์กรหรือสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในทางที่มั่นคง มั่งคั่ง และวัฒนาขึ้น

ในยามปกติ ผู้นำที่ดีมักอยู่เบื้องหลัง เป็นแบ็คกราวนด์ คอยคัดหางเสือ สร้างแรงจูงใจ สร้างความสามัคคี สร้างกำลังใจ ประสานทรัพยากรของฝ่ายต่างๆ ให้เกิดพลัง และ ให้ผู้ตามทุ่มเทมุ่งมั่นกับเป้าหมาย และคิดว่างานที่สำเร็จนั้นเกิดจากความสามารถของพวกเขาเอง

แต่ในยามวิกฤติ ผู้นำจะต้องออกมายืนข้างหน้า ยืนแถวหน้า ถือธงนำฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ด้วยความเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด อย่างไม่ยอมแพ้ จะมายืนอยู่เบื้องหลังแบบในภาวะปกติไม่ได้เด็ดขาด

เหตุผลเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมแบบ “สัตว์ฝูง” ที่ต้องการให้มีผู้นำ มานำมาพาไป ซึ่งผู้นำที่ดีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่สามารถระดมทรัพยากรทุกอย่างในองค์กรหรือสังคม ไปใช้ในการโค่นล้มวิกฤติลงให้ได้โดยเร็ว และสูญเสียน้อยที่สุด

ไม่ใช่พวก Demagogue ที่ขึ้นมาปลุกปั่นอารมณ์ ฉวยโอกาส ที่คนมีความทุกข์ เสนอ Solutions ที่เด็ดขาด และคนส่วนใหญ่อยากฟัง แม้จะฝ่าวิกฤติไปได้ก็ตาม แต่มักจะนำไปสู่วิกฤติระยะยาวที่รุนแรงยิ่งกว่าเก่า

ฮิตเลอร์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

 

การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ ต่างกับภาวะปกติตรงที่เป้าหมายในภาวะวิกฤติมักเป็นแบบ “เป้าหมายเดียว” หรือ Single Issue เช่น กู้บ้านกู้เมืองคืนจากศัตรูผู้ยึดครอง หรือ เอาชนะโรคห่าที่กำลังระบาดอย่างหนักให้ได้ เท่านี้เป็นพอ ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายอื่น ขอให้ผ่านพ้นจุดนี้ไปได้ก่อน แล้วค่อยว่ากัน

ดังนั้น การนำในภาวะวิกฤติย่อมต้องต่างจากการนำในภาวะปกติ หรือในภาวะที่พ้นจากวิกฤติ คือภาวะฟื้นฟู ซึ่งต้องกลับไปใช้แนวทางการพัฒนา

การจะกู้บ้านกู้เมืองคืนจากอริราชศัตรู หรือเอาชนะโรคห่าลง อาศัยวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกัน

เริ่มต้นต้องรู้จักศัตรูอย่างทะลุปรุโปร่งเสียก่อน

ต้องรู้ว่าจุดอ่อนมันอยู่ตรงไหน และจุดแข็งของเราคืออะไร จะสู้กับมันด้วยวิธีใดถึงจะชนะ หรือเสียหายน้อยที่สุด

ผู้นำต้องหาคณะผู้รู้เข้ามาปรึกษาวางแผน หาความรู้เองจาก Case Studies ในอดีตจำนวนมาก และวางมาตรการอย่างละเอียด โดยรายละเอียดจะต้องสามารถปรับเปลี่ยน Improvise ไปตามสถานการณ์ที่พัฒนาไปทุกนาที ทุกพื้นที่ “แต่ละพื้นที่ ทีละพื้นที่ อาจอาศัยมาตรการที่ไม่เหมือนกันก็ได้”

มาตรการเหล่านั้นจะเป็นการ Mobilize ทรัพยากรและองคาพยพทั้งหมดของสังคมไปเพื่อต่อสู้เอาชนะโรคห่า โดยมีผู้นำเป็นผู้บัญชาการอย่างกัดติด ทุ่มเท เสียสละ ไม่ย่อท้อ ให้สังคมได้รับรู้

ขั้นต่อไปคือต้อง “บริหารความกลัว” ของผู้คนในสังคม

ข้อนี้สำคัญเพราะความกลัวจะนำไปสู่ความเสื่อมและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ความกลัวจะทำให้คนเห็นแก่ตัวและแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกมา และอาจทำให้เกิดภาวะโกลาหล ซึ่งจะทำให้รัฐต้องเสียต้นทุนไปปราบปราม

ผู้นำต้องขจัดความกลัวของผู้คนให้ได้ (นักเรียนทหารทุกคนต้องรู้จักวิธีขจัดความกลัวอยู่แล้ว เพราะร่ำเรียนมาโดยตรง) และเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้า...กล้าคิดต่อต้านโรคห่า กล้าที่จะเสียสละ เช่นพวกที่เชี่ยวชาญเรื่องยาก็กล้าคิดค้นยา พวกที่ทำเรื่องรักษาพยาบาลก็กล้าที่จะคิดวิธีการใหม่ซึ่งเหมาะกับภาวะวิสัยในแต่ละพื้นที่ พวกที่ทำเรื่องไอที ก็กล้าคิดที่จะเอาไอทีมาช่วย เป็นต้น

“ความกล้า” จะนำมาซึ่งความมั่นใจในตัวเอง และจะส่งผลถึง “TRUST” หรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันในที่สุด

คุณธรรมข้อนี้จำเป็นมากในการฝ่าวิกฤติของสังคม เพราะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไว้เนื้อเชื่อใจในชุดความรู้และชุดมาตรการของผู้นำ และไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่ราษฎรกันเองว่าจะไม่มีใครฉวยโอกาสหรือแสดงพฤติกรรมเห็นแก่ตัวอันทำให้ส่วนรวมต้องเกิดต้นทุนในช่วงเวลานี้

การจะทำข้อนี้ให้สำเร็จ ไม่สามารถอาศัยการแสดงอำนาจใหญ่โต แต่ต้องอาศัยการทำตัวให้เป็นตัวอย่าง และต้องอาศัยกลยุทธ์การสื่อความที่เหนือชั้น ถูกต้อง รวดเร็ว และสม่ำเสมอ

แน่นอน ถ้าเราอยากให้คนกล้า ผู้นำก็ต้องกล้าก่อน...กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ กล้าที่จะออกมาตรการที่ปกป้องส่วนรวม กล้าที่จะฝ่าขวากหนามทุกอย่างเพื่อจะให้มาตรการนั้นสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการและข้าราชการที่แวดล้อม หรือนักกฎหมายที่คอยเหนี่ยวรั้งการตัดสินใจ หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฯลฯ

การสื่อสารในภาวะวิกฤติก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำต้องใส่ใจมากๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ ยุคที่ FakeNews และ DeepFake เป็นเรื่องปกติ

หัวใจของการสื่อความในภาวะนี้คือการพูดความจริง

โดยการพูดความจริงต้องมาพร้อมกับมาตรการที่พัฒนาขึ้นทุกวันๆ คือมาตรการใหม่ของวันนี้ที่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเมื่อวาน หรือมาตรการใหม่ของวันนี้ที่หนุนเสริมจากข้อสำเร็จของเมื่อวาน

การสื่อความในภาวะวิกฤติจะต้องเป็นการสื่อความแบบสองทาง

ผู้นำจะต้องสร้างช่องทางในการสื่อสารกับราษฎร เพื่อรับรู้ปัญหาและความรู้ข้อเสนอแนะใหม่อย่างรวดเร็วและอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกกลุ่มคน

การจะทำอย่างที่พูดมาทั้งหมดนี้ให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัยอำนาจเด็ดขาด หรือเกือบจะเด็ดขาด โดยจะต้อง By-pass โครงสร้างของระบบราชการและกฎเกณฑ์หยุมหยิมไปชั่วคราว

ดังนั้นควรใช้กฎหมายชั่วคราวที่ให้อำนาจกับผู้นำหรือคณะผู้นำ เพื่อผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ แล้วก็ค่อยเลิกใช้

ผู้นำในภาวะวิกฤติต้องเป็นผู้นำเชิงยุทธ์ เป็นผู้นำที่แสดงภูมิ เห็นภาพรวมแบบทะลุปรุโปร่ง รู้ว่าวิกฤติจะพัฒนาไปอย่างไร และจุดสิ้นสุดของวิกฤติจะเป็นเช่นไร ตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ สั่งการและติดตามผลแบบกัดติด รู้จักสื่อความ และสร้างบุคลิกให้น่าเชื่อถือ เพื่อให้ราษฎรเห็นด้วยและยอมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ไม่ใช่ทำตัวเป็นเสมียน ที่คอยทำตาม Manual ของระบบราชการ

นั่นไม่ใช่ “ผู้นำ” แต่เป็น “หัวหน้าเสมียน” หรือ “หัวหน้าคนงาน” ซึ่งยากที่จะนำพาสังคมให้ฝ่าวิกฤติไปได้

การปล่อยให้ภาพลักษณ์แบบนี้ติดตัวผู้นำตั้งแต่แรก ย่อมนำมาซึ่ง “ความล้มละลายในความน่าเชื่อถือ” ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ ยากและแพงขึ้นไปโดยใช่เหตุ


เรื่อง: ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

 

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Friday, 03 April 2020 14:12
X

Right Click

No right click