×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ปกครองด้วยกฎหมาย ตำราการเมือง อาริสโตเติล ตอนหนึ่งและสาม

July 19, 2017 5932

ศ.สมิท เปิดการบรรยายตอนนี้ว่า การสอนปรัชญาการเมืองอย่างจริงจังนั้น กล่าวกันว่า จะต้องเริ่มด้วย เพลโต ซึ่งท่านก็ได้ดำเนินการบรรยายมาในแนวนั้น บัดนี้...ถึงเวลาที่จะต้องก้าวต่อไป

 

และจะว่าด้วยบุตรบุญธรรม หรือทางจิตวิญญาณของเพลโต อันได้แก่ อาริสโต-เติล

ตำนานเล่า ชีวิตของอาริสโตเติล ว่า: “อาริสโตเติล เกิดมา ใช้เวลาทั้งชีวิตครุ่นคิด แล้วเขาก็ตาย” ซึ่งถึงแม้ชีวิตอาริสโตเติลจะมีมากกว่านั้น แต่คำกล่าวตามตำนาน ก็ไม่ได้หนีความจริง เพราะตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผู้รู้ชาวตะวันตกก็ถือว่า อาริสโตเติลเป็นยอดนักปรัชญา 

อาริสโตเติล เกิด 384 ปี ก่อนคริสต์-ศักราช ภายหลังจากที่โสคราตีสถูกตัดสินประหารชีวิตแล้วสิบห้าปี เขาเกิดทางเหนือของประเทศกรีก ในแคว้นมาซิโดเนีย เมื่อถึงวัยรุ่น บิดาส่งไปเรียนหนังสือที่เอเธนส์ ในสำนักของเพลโต เขาอยู่ที่นั่นยี่สิบปี กระทั่งเพลโตตาย เมื่อเพลโตตาย อาริสโตเติลก็ออกจากเอเธนส์ เดินทางท่องดินแดนกรีกโบราณ ในเอเชียไมเนอร์ หรือ ประมาณประเทศตุรกี-ภาคเอเชีย และประเทศซีเรียในปัจจุบัน จากนั้นก็เดินกลับบ้านเกิดในมาซิโดเนีย เพราะกษัตริย์ฟิลิป แห่งมาซิโดเนีย ให้ไปตั้งสำนักศึกษา เป็นติวเตอร์อบรมบุตรชาย คือ เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ซึ่งต่อมาก็คือ อเล็กซานเดอร์มหาราช


ต่อมาอาริสโตเติลก็เดินทางไปเอเธนส์และตั้งสำนักศึกษาของตนเอง เรียกว่า ไลเซียม กระทั่งถึงบั้นปลายชีวิต ก็ถูกทางการประชาธิปไตยเอเธนส์ กล่าวหาเช่นเดียวกับที่เคยกล่าวหาโสคราตีสมาก่อน คือถูกกล่าวหาว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งอาจมีโทษถึงประหารชีวิต แต่อาริสโตเติลปฏิเสธ ที่จะอยู่รอดื่มยาพิษ เช่นเดียวกับโสคราตีส เขาหนีออกจากเอเธนส์ โดยเขากล่าวว่า ขี้เกียจจะอยู่ให้ชาวเอเธนส์ทำบาปกับนักปรัชญาอีกเป็นการซ้ำสอง

อาริสโตเติลมีสไตล์ต่างจากโสคราตีสผู้ที่พร่ำพูดพร่ำสอนตลอดเวลา และต่างจากเพลโตซึ่งทำงานเขียนด้วยการบันทึกคำสอนของโสคราตีส แต่อาริสโตเติลสร้างงาน (เขียน) เป็นชิ้นเป็นอันมากมายหลายสาขาวิชา ตั้งแต่ชีววิทยาถึงจริยปรัชญา การวิจารณ์วรรณกรรม การเมือง ฯลฯ

ศ.สมิท กล่าวว่า อาริสโตเติลสามารถเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเยลได้ในหลายภาควิชา แต่โสคราตีสนั้นคุณสมบัติไม่ถึงแม้แต่จะสมัครเป็นผู้ช่วยสอน เพราะแกพูดอย่างเดียว ไม่มีผลงานลายลักษณ์อักษร

 

ขณะที่สำหรับเพลโตการศึกษาเรื่องการเมือง ในที่สุดแล้วก็จะจบลงด้วยปมปัญหาปรัชญาที่ยากจะขบแตก เช่น จิตวิญญาณคืออะไร? จิตวิญญาณเกี่ยวข้องกับอะไร? แต่อาริสโตเติลศึกษาการเมือง คล้ายกับที่เราศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

อาริสโตเติลเที่ยวเก็บรวบรวมรัฐธรรมนูญต่างๆ ทั่วทั้งดินแดนโลกตะวันตกโบราณ สร้างคำนิยามคำศัพท์ ด้านการเมือง สร้างคู่มือการเมือง คู่มือการศึกษาการเมือง งานของอาริสโตเติลไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้นักปรัชญาได้เรียน แต่ทำเพื่อประชาชนพลเมือง และผู้ที่จะบริหารรัฐในอนาคตได้เล่าเรียน

งานของอาริสโตเติลไม่เน้นทฤษฎี แต่มุ่งถึงหน้าที่พลเมือง และการประนีประนอมทางการเมือง อาริสโตเติล เห็นความสำคัญของ รัฐ และต้องการจะเตรียมคน ให้เป็นพลเมืองของ รัฐ หรือนครรัฐ หรือของบ้านเมือง

ชีวิตของ อาริสโตเติล ได้เห็นประชา-ธิปไตยกรีกโบราณล่มสลาย นครรัฐกรีกถูกครอบครองโดยราชอาณาจักรมาซิโดเนีย อาริสโตเติล มองความเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนั้น อย่างไร? ปรากฏว่า อนิจจา อาริสโตเติล ไม่ได้เขียนความเห็นเรื่องนี้ไว้


อาริสโตเติล เป็นนักวิชาการแทบจะทุกสาขาวิชา ที่รู้จักกันในโลกตะวันตกโบราณ เป็นที่เคารพนับถือในสาขาต่างๆ เหล่านั้นมายาวนานมาก จนตราบถึงประมาณศตวรรษที่ 17 (ในแง่ปรัชญาการเมือง) ในหนังสือ “การเมือง” (the Politics) ของ อาริสโตเติล ได้แสดงวาทะอันมีชื่อเสียง ที่ว่า “มนุษย์ โดยธรรมชาติ เป็น สัตว์การเมือง”

“Man is by nature a political animal.”  อาริสโตเติล เห็นว่า “ที่กล่าวกันว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มากกว่าผึ้ง หรือมากกว่าสัตว์ที่อยู่กันเป็นฝูงชนิดอื่นๆ นั้น ชัดเจนอยู่แล้ว”

สัตว์อื่นทั้งหลาย อาจทำเสียง (voice) ได้ อาจรู้สุขรู้ทุกข์ แต่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ “พูดได้” กล่าวคือ มนุษย์ มี Logos ที่แปลว่า ถ้อยคำ หรือ เหตุผล ก็ได้ทั้งสองอย่าง คุณสมบัตินี้ในมนุษย์ เกินไปกว่าการรู้ทุกข์รู้สุข Logos เป็นตัวกำหนดว่า อะไรยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรม อะไรดี อะไรชั่ว หลักศีลธรรมและจริยธรรม คือ ตัวก่อให้เกิดครอบครัวและบ้านเมือง - อาริสโตเติล กล่าวไว้เช่นนั้น

อาริสโตเติล ขยายความละเอียดขึ้น ว่า บ้านเมือง (polis หรือ นครรัฐ) เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เริ่มจากการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของมนุษย์ เป็นครอบครัว แล้วเป็นเผ่า แล้วเป็นหมู่บ้าน แล้วก็เป็น บ้านเมือง หรือ นครรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการขั้นสูงของมนุษย์ คล้ายกับทางชีววิทยาที่สัตว์พัฒนาจากสัตว์รูปแบบง่ายๆ กลายเป็น
สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น

อย่างไรก็ดี การอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง หรือ นครรัฐ มีนัยที่สอง นอกเหนือจากตามแนวธรรมชาติ กล่าวคือ นครรัฐ/บ้านเมือง เปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถบรรลุผลสำเร็จในชีวิต ที่จะได้ไปถึง วัตถุประสงค์บั้นปลาย (telos) หรือ แก่นของความเป็นคน 

เราเป็นสัตว์การเมือง ก็เพราะว่า การมีชีวิตที่มีส่วนร่วมในชีวิตบ้านเมือง จำเป็นแก่ความเป็นเลิศของคน จำเป็นต่อการอยู่ดี (well-being) ของคน

คนที่ไร้บ้านเมือง ไม่มีพสุธาจะอาศัย ก็จะมีฐานะเท่ากับ สัตว์เดรัจฉานตัวหนึ่ง หรือไม่ก็จะต้องเป็นระดับเทวดา หมายความว่า ถ้าไม่ต่ำกว่าคน ก็ต้องสูงกว่าคน หรือคนเหนือคน 

การกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองตามธรรมชาตินั้น อาริสโตเติลได้วางรากฐานสำคัญไว้แก่โลกยุคต่อๆ มา ถึงแม้ อาริสโตเติลจะไม่ได้ขยายแนวคิดนี้ในทางกว้างและลึกซึ้งมากนักก็ตาม อย่างไรก็ดี เราต้องทำความเข้าใจว่าอาริสโตเติลไม่ได้ให้ความหมายเชิงชีววิทยา เพราะธรรมชาติแห่งการอยู่เป็นบ้านเมืองของคน ไม่ใช่มดสร้างรัง หรือแมงมุมชักใยแมงมุม หรือผึ้งสร้างรัง หรือปลวก สร้างจอมปลวก คนไม่ได้เป็นสัตว์การเมืองเพราะเหตุผลทางธรรมชาติเหมือนพวกเดรัจฉาน แต่เป็นเพราะว่า มนุษย์ “พูดได้” คือมี Logos การพูดได้ของอาริสโตเติลหมายถึง การรู้จักเหตุผล ด้วย 

การพูดได้และรู้จักเหตุผล ทำให้มนุษย์ผูกพันกับคนอื่นในบ้านเมืองเดียวกัน มีความเข้าใจร่วม มีความรู้สึกร่วม ว่าอะไรยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรม มนุษย์รู้จักที่จะอยู่ร่วมกันด้วยข้อศีลธรรมทางภาษา (การพูด/ให้เหตุผล) อาริสโตเติล จึงสรุปว่า “การพูดได้” (Logos) ของคน นำมาซึ่ง (แต่มิใช่ เป็นเหตุ) การเมือง

นอกจาก “การพูดได้” ของมนุษย์ จะนำมาซึ่งการเมืองแล้ว ยังนำมาซึ่งความรัก ความสนิทสนม ความเห็นอกเห็นใจ มิตรภาพ ความเป็นเพื่อน ซึ่งก็เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการเมืองและการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง ตลอดจนเป็นพื้นฐานของความเป็นคน การสมาคมกันในแนวดังกล่าวนำไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์

แต่ “บ้านเมือง” หรือ นครรัฐ ของอาริสโตเติล หมายถึง นครรัฐหรือบ้านเมืองขนาดเล็กๆ เป็นสังคมเล็กๆ ที่เกือบจะเหมือนสังคมปิด ซึ่งพันธะที่ผูกพันกันระหว่างสมาชิก ได้แก่ ความรู้สึกเป็นเพื่อน หรือมิตรภาพ ไม่ใช่สังคมที่ คิดคำนวณผลประโยชน์ สังคมที่คำนึงถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ จะไม่ใช่สังคมการเมืองแบบที่ อาริสโตเติล พูดถึง

อาริสโตเติลเห็นว่า เราจะไว้วางใจคนทั่วไปทุกคนหาได้ไม่ เราจะไว้วางใจกันได้ก็แต่เฉพาะกลุ่มเพื่อนหรือในหมู่มิตรเท่านั้น ซึ่งหมายถึงพลเมืองนครรัฐเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงจะมีแต่นครรัฐเล็กๆ เท่านั้นที่จะมี “การเมือง” ได้ คือสามารถปกครองกันได้ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
 

อาริสโตเติลเห็นว่า แผ่นดินขนาดใหญ่เช่นจักรวรรดิ จะสามารถปกครองกันได้อย่างหลวมๆ เท่านั้น นครรัฐจะเป็นแผ่นดินขนาดใหญ่โตกว้างขวางไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี นครรัฐหนึ่งก็จะตั้งอยู่ในโลกร่วมกับนครรัฐอื่นๆ และแต่ละนครรัฐ ก็อาจมีนโยบายแตกต่างกัน หรือบางทีอาจจะเป็นศัตรูกัน ในการอยู่ร่วมกันนี้ นครรัฐก็จะต้องมีนโยบายการต่างประเทศ พลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย จะไปเป็นพลเมืองดีในระบอบอื่นไม่ได้ ความภักดีต่อวิถีชีวิตแบบของตน เป็นข้อบังคับ (เงื่อนไข ชนิดบังคับก่อน) ให้เกิดนครรัฐ  ด้วยเหตุแห่งความที่มีลักษณะเฉพาะตัวของนครรัฐ (หรือบ้านเมืองขนาดเล็ก) ทำให้นครรัฐอาจไม่สามารถเป็นมิตร กับนครรัฐหรือบ้านเมืองอื่นได้ทั้งหมด สงครามระหว่างนครรัฐอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การรณรงค์สงครามและคุณสมบัติที่เอื้อต่อการรณรงค์สงคราม ก็จะเป็นสิ่งมีค่าต่อนครรัฐ และเป็นธรรมชาติของความเป็นนครรัฐ (หรือบ้านเมือง) เช่นเดียวกับความเป็นเพื่อน มิตรภาพ และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

ศ.สมิท ตั้งข้อสังเกตว่า ในตอนต้นๆ อาริสโตเติลไม่ได้พูดว่าระบอบการปกครองชนิดใดดี หรือดีที่สุด เพียงแต่พูดว่าเราเป็นสัตว์การเมือง และเพื่อให้เราบรรลุวัตถุ-ประสงค์แท้จริง (telos) ของชีวิต เราก็จะต้องอยู่กันเป็นบ้านเป็นเมือง แต่มีคำถามว่า แล้วจะปกครองนครรัฐอย่างไรดี? จะปกครองด้วยคนน้อยคนหรือมากคน ถึงจุดนี้ เราเพียงแต่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนครรัฐว่า 

1. จะต้องมีขนาดเล็ก พอที่จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้

2. จะมีภาษา ภาษาพูด ภาษาแห่งการให้เหตุผล และในที่สุด ภาษาแห่งความยุติธรรม ภาษาเดียวกัน หมายความว่า ไม่ใช่สักแต่ว่าจะพูดภาษาเดียวกัน ทว่า จะต้องมีประสบการณ์เดียวกัน มีความทรงจำเดียวกัน ที่คอยก่อรูปผู้คนพลเมือง 

เราจะเห็นได้ว่า สังคมหลากหลายเผ่าพันธุ์ มากกลุ่มวัฒนธรรม มากมายหลายภาษาพูด เช่นสังคมมนุษย์ปัจจุบันหลายๆ สังคมนั้น ไม่เข้าข่ายนครรัฐ ของ อาริสโตเติล ซึ่งประเด็นนี้จะมองว่า อาริส-โตเติล กำลังวิพากษ์วิจารณ์สังคมปัจจุบัน ก็ว่าได้ -- ศ.สมิท แสดงความเห็นเช่นนั้น

พลเมืองในนครรัฐแบบของอาริสโตเติล จะบรรลุวัตถุประสงค์บั้นปลายที่สุดของชีวิต ด้วยการเข้ามามีส่วนในการบริหารกิจการบ้านเมือง หรือมีส่วนร่วมในการเมือง ขณะที่พลเมืองของประเทศใหญ่โตสมัยนี้ รัฐอาจให้ประชาชนมีเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตตามใจปรารถนา แต่เสรีภาพเช่นนี้ไม่ใช่เสรีภาพที่อาริสโตเติลพูดถึง

อาริสโตเติลกล่าวว่า เสรีภาพจะเกิดมีขึ้นได้แก่ปัจเจกชน ก็ต่อเมื่อเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง มาทำกิจกรรมการเมือง มารับผิดชอบและตรวจสอบงานการเมือง เพื่อประโยชน์ของชนทั้งปวง หรือประโยชน์สาธารณะ

เพราะฉะนั้น เสรีภาพของอาริสโตเติลจึงไม่ได้หมายถึงมีชีวิตตามใจชอบ แต่มีชีวิตด้วยการยับยั้งชั่งใจ มีสำนึกว่า ใช่ว่าคนเราจะทำได้ตามอำเภอใจ อาริสโตเติลเห็นว่าสังคม/บ้านเมือง/นครรัฐที่ดีย่อม ส่งเสริมให้คนรู้จักประมาณตน และรู้จักประเมินตนเอง รู้จักปกครอง (ใจ) ของตนเอง ดังที่อะไดมาติสพูดไว้ การรู้จักครองตนอยู่ในทางสายกลาง (moderation) มี self-governance เหล่านี้ จะแยกเสียมิได้จาก เสรีภาพ

อย่างไรก็ดี ปรัชญาการเมืองอาริสโต-เติลก็มีข้อที่สมัยนี้เห็นว่าเสียชื่อเสียงอยู่ประการหนึ่ง คือ การรับรองเรื่องทาส อาริสโตเติลเห็นว่าความเป็นทาสเป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ เพราะอาริสโตเติลเชื่อในเรื่องความไม่เสมอภาค เขาเห็นว่า สังคมต้องมีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง เป็นกฎธรรมชาติของคน 


ประชาธิปไตยแบบอาริสโตเติลจึง แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สัน ผู้ประกาศว่า “มนุษย์ถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน” จึงมีนักศึกษารุ่นปัจจุบันเห็นว่า หนังสือเรื่อง “การเมือง” หรือ “Politics” ของอาริสโตเติล เป็นหนังสือ “แอนตี้ประชาธิปไตย” อย่างมากที่สุดเท่าที่เคยเขียนกันมา

เอ๊ะ แล้วเราจะเรียนเรื่องการเมืองจากอาริสโตเติลไปทำไม? เนื่องจากการแสดงเหตุผลของอาริส-โตเติลสั้นมาก ท่านว่า เราจะต้องทำการอ่านชนิดที่เรียกว่า อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ หรือ close reading

1. เราไม่พึงมองข้ามความเห็นของ อาริสโตเติลในส่วนที่เราไม่ชอบ เพียงเพื่อให้อาริสโตเติล “ดูดี” ในทางการเมือง คือ ให้อาริสโตเติลมีความเห็นที่เป็นความชอบธรรมทางการเมือง (politically correct) ตามทัศนะของคนสมัยนี้ 

2. ขณะเดียวกัน เราก็ไม่พึงปฏิเสธ
อาริสโตเติล มองข้ามเขาไปเสียเลย เพียงเพราะว่าทัศนะของเขาไม่ตรงกับทัศนะของเรา

ศ.สมิท เห็นว่า ข้อสังเกตเรื่องทาสของอาริสโตเติลเป็น “หัวข้ออภิปราย” ไม่ใช่ความเห็นเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาบอกว่า “มีบางคน เชื่อว่า ทาสเป็นธรรมชาติ” เพราะว่า การปกครองและการถูกปกครอง พบได้ทุกสังคม

แต่บางคนสมัยโน้น ก็เห็นว่า นายกับทาส ไม่เป็นธรรมชาติ ทว่าเป็นความสัมพันธ์ที่วางอยู่กับการ “บังคับ” เราจะพบว่าแม้ในโลกโบราณ เรื่องทาสก็ใช่ว่าจะเห็นคล้อยตามกันเสียทั้งหมด อาริสโตเติล เพียงแต่เปิดใจกว้าง ยอมรับความเห็นทั้งสองทาง อาริสโตเติลเห็นด้วยกับผู้ที่เห็นว่า ทาสที่เกิดจากสงคราม (เชลยศึก) ไม่ยุติธรรม เพราะว่า การสงครามไม่ได้เกิดอย่างยุติธรรมเสมอไป ฉะนั้น ทาสชนิดนี้ เราจะถือว่า เป็นธรรมชาติ หรือเป็นทาสอย่างยุติธรรม ไม่ได้

อาริสโตเติลปฏิเสธความเห็นอื่นๆ ที่ว่า ทาสเหมาะแก่คนอื่นที่มิใช่คนกรีก เขาบอกว่า เป็นทาสกันได้ทั้งนั้นแหละ ทาสไม่จำกัดชาติพันธุ์ หรือถ้าแม้นว่า ความเป็นนายเป็นทาสแม้จะเกิดจากที่ธรรมชาติเจตนามา เพื่อให้เห็นความต่างระหว่าง คนเป็นไท กับ คนเป็นทาส แต่ อาริสโตเติลเห็นว่า การณ์อันตรงข้ามกัน มักจะเป็นจริง ธรรมชาติมีสิทธิสร้างมาผิดพลาด (คือ คนที่ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นไท ที่จริงกลับเป็นทาส และคนที่ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นทาส กลับเป็นไท) ถึงตรงนี้หลายคนเริ่มสับสนกับอาริส-โตเติลว่า สรุปแล้วจะพูดว่าอะไรแน่?  อาริสโตเติล เห็นด้วยกับพวกที่เห็นว่า ทาสเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะว่า อาริสโต-เติลเห็นว่าคนเราไม่อาจปกครองตนเองได้โดยปราศจาก ความยับยั้งชั่งใจ การปกครองตนเอง (self-rule) จะหมายถึง การรู้จักที่จะยับยั้งชั่งใจตนเอง การรู้จักควบคุมตนเอง (self-restraint or self-control) ซึ่งล้วนแล้วแต่จำเป็นสำหรับ เสรีภาพ 

การรู้จักควบคุมกิเลสตัณหาของตนเอง ก็คล้ายๆ กับการรู้จักปกครองผู้อื่นด้วยความยับยั้งชั่งใจ จิตวิญญาณก็มีลำดับชั้นขั้นตอนของมัน ซึ่งแสดงออกมาเป็นรูปธรรม ด้วยระบอบการเมืองการปกครองนั่นเอง อาริสโตเติลสรุปว่า ลำดับชั้นตามธรรมชาติ ก็มาจากลำดับชั้นภายใน (จิตใจ) ของสติปัญญา และลำดับชั้นของการรู้จักเหตุผลแต่ ลำดับชั้นในจิตใจคนมาจากไหน? อาริสโตเติลตั้งคำถามว่า ทำไมคนบางคนจึงมีขีดความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุผล มีการควบคุมตนเองได้ดี ซึ่งคุณสมบัติสองประการนี้จำเป็นต่อ เสรีภาพ แต่คนบางคนกลับไม่มีความสามารถเช่นนั้น

เรื่องนี้ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือ หรือว่าเกิดจากการอบรมเลี้ยงดู ถ้าเกิดจากการเลี้ยงดู แล้วความเป็นทาสจะเป็นธรรมชาติได้อย่างไร? ก็อาริสโตเติลบอกว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล” (เป็น สัตว์ประเสริฐ) มิใช่หรือ? ก็แปลว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามเป็นอย่างนั้น ต่างล้วนมีขีดความสามารถที่จะฝึกจิต และสามารถมีชีวิตอยู่อย่างเสรีได้ ความคิดเหล่านี้มีความเสมอภาคแฝงอยู่


ประโยคที่เปิดฉากหนังสือ เมตาฟิสิกส์ ของอาริสโตเติล เขียนว่า “All men have a desire to know.” นี่เป็นสากลใช่ไหม? ทุกคนมีเสรีภาพ ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง และในการที่จะถูกปกครอง ในฐานะพลเมืองของบ้านเมือง แต่ขณะเดียวกัน อาริสโตเติลกลับเห็นว่าการศึกษาเป็นสิทธิของคนส่วนน้อย เพราะว่า “วินัย” และ “การรู้จักควบคุมตนเอง” ที่จำเป็นแก่การศึกษา หรือจำเป็นสำหรับจิตที่มีการศึกษา ดูเหมือนจะกระจายอยู่อย่างไม่เสมอภาคกัน ในหมู่มนุษย์

เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่าระบอบการปกครองตามธรรมชาติ ที่เป็นระบบที่ดีที่สุด น่าจะได้แก่ระบบอาริสโตเครซีของคนมีการศึกษา - aristocracy of the educated เป็นระบบสาธารณรัฐศักดินา - aristocratic republic ทั้งนี้โดยที่ คนมีการศึกษาปกครอง เพื่อสุขของคนทั่วไป  หนังสือสาธารณรัฐของอาริสโตเติล (ซึ่งหมายรวมถึงเพลโตด้วย) เน้นการปลูกฝังคุณธรรม คุณงามความดีระดับสูง - high level of citizen virtue ซึ่งหมายถึง จิตใจที่มีคุณสมบัติ เหมาะสมและจำเป็น แก่การปกครองตนเอง คุณสมบัตินี้อาริส-โตเติลเห็นว่ามีอยู่ในคนส่วนน้อย มีคนจำนวนน้อยที่จะมีความสามารถเข้ามาบริหารปกครองบ้านเมืองได้  หนังสือของอาริสโตเติลจึงดูเหมือนจะสั่งสอนอบรมปลูกฝังชนชั้นผู้นำ เป็น elite teaching ซึ่งช่างตรงกันข้ามกับความรู้สึกสำนึกของเรา (นศ. มหาวิทยาลัย เยล) ที่เราได้รับการเลี้ยงดูมา

แต่ก่อนที่เราจะปัดอาริสโตเติลทิ้งไป เราน่าจะลองถามดูว่า มหาวิทยาลัยเยล เป็นสถาบันชั้นผู้นำ มิใช่หรือ? เป็นสถาบันที่ตั้งใจจะให้การศึกษาอบรม เชิงศีลธรรมและปัญญา สร้างคนมีการศึกษาที่เป็นผู้นำ มิใช่หรือ? ดูจากระบบการรับนักศึกษา เป็นระบบเปิด ใครๆ ก็เข้ามาเรียนได้ เช่นนั้นหรือ? หามิได้เลย มีระบบคัดเลือกที่เรียกร้องคุณสมบัติ ที่จะปกครองตนเองได้ มีวินัย มีการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อความสำเร็จในการศึกษาที่ เยล 

แล้วการที่นักศึกษาจากที่นี่สำเร็จออกไปอยู่ในกลุ่มผู้นำในรัฐบาล ธุรกิจ กฎหมาย และวงวิชาการนั้น จะเป็นการยุติธรรมไหม ถ้าจะพรรณนาว่า ชั้นเรียนนี้เป็นศักดินาตามธรรมชาติ?

เรื่อง : โดยนิตยสาร MBA

วันที่ : 27 มีนาคม 2560

X

Right Click

No right click