×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

December 12, 2017 36467

มนุษย์เรามีความผูกพันกับท้องทะเลและมหาสมุทรมาเป็นเวลายาวนาน จนกล่าวได้ว่ามหาสมุทรหรือพื้นน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาลบนโลกนี้เองที่ได้ขับเคลื่อนระบบต่างๆ ให้กับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ผ่านความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านอุณหภูมิ องค์ประกอบทางเคมี กระแสน้ำตลอดจนการดำรงชีวิต

ที่ส่งผลให้มนุษยชาติสามารถอยู่บนโลกนี้ได้อย่างปกติสุขตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงได้รับประโยชน์จากท้องทะเลและมหาสมุทรทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำดื่ม สภาพอากาศ ภูมิอากาศ  ทรัพยากรชายฝั่ง อาหาร และแม้กระทั่งออกซิเจนในอากาศที่เราใช้หายใจ ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถูกควบคุมโดยอิทธิพลของทะเลทั้งสิ้น

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต มหาสมุทรและทะเลยังถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมสัญจร เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ อย่างไรก็ตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มนุษย์เสาะหาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากท้องทะเลและมหาสมุทรเพิ่มมากขึ้น โดยที่เราอาจจะคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป จนลืมไปว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นส่งผลกระทบทำให้ท้องทะเลและมหาสมุทรอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมและเสียสมดุล โดยตัวเลขทางสถิติจะสามารถแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทรัพยากรทางทะเลกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ชัดเจนขึ้น ดังต่อไปนี้

• พื้นที่มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ส่วนของโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 97 ของน้ำบนโลก รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยบนโลกถึงร้อยละ 99 โดยปริมาตร

• การดำรงชีวิตของประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนพึ่งพาอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง

• มูลค่าทางการตลาดของทรัพยากรทางทะเล และอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล ทั่วโลก มีค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณร้อยละ 5 ของ GDP ทั่วโลก

• ในมหาสมุทรนั้นมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ที่ระบุได้แน่นอนแล้วกว่า 2 แสนสายพันธุ์ โดยตัวเลขที่แท้จริงนั้นอาจมีมากถึงหลายล้านสายพันธุ์ 

 

• มหาสมุทรช่วยลดผลกระทบจากปรากฏการณ์โลกร้อน โดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เอาไว้ถึงร้อยละ 30

• มหาสมุทรยังทำหน้าที่เป็นแหล่งโปรตีนที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนต้องอาศัยมหาสมุทรเป็นแหล่งโปรตีนหลักของพวกเขา

• การประมงทะเลนั้นเป็นแหล่งสร้างงานให้กับประชากรโลกมากกว่า 200 ล้านคน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

• เม็ดเงินที่อุดหนุนการทำประมงนั้น มีส่วนทำให้โลกสูญเสียพันธุ์ปลาหลายสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งผลต่อการประกอบอาชีพและรายได้โดยรวมของชาวประมงลดลงถึง 50 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

• กว่าร้อยละ 40 ของมหาสมุทรบนโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในรูปแบบต่างๆ การทำประมงที่ไม่ได้มาตรฐาน และการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง เป็นต้น

ข้อเท็จจริงทางสถิติตัวเลขข้างต้นทำให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรทางทะเล โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์ยังคงอาศัยท้องทะเลและมหาสมุทรในการดำรงชีวิตเป็นแหล่งทำมาหากิน ขนส่งสินค้า แต่นานวันเข้าเรากลับตักตวงผลประโยชน์ให้กับตนเองโดยไม่มีการบริหารจัดการใดๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลและมหาสมุทร หากพฤติกรรมดังกล่าวยังดำเนินต่อไป ความเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัวจะส่งผลร้ายกับเรา หากเรายังทำการประมงโดยไม่มีแผนอนุรักษ์ สัตว์น้ำต่างๆ อาจสูญพันธุ์ แหล่งอาหารที่สำคัญของเราจะหมดสิ้นลง หรือการปล่อยมลพิษต่างๆ ลงสู่ท้องทะเลก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้สัตว์น้ำต่างๆ สูญพันธ์ุได้เช่นกัน อีกทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวทางทะเล ไม่เพียงเท่านั้นผู้คนจำนวนมากจะไม่มีอาชีพเนื่องจากไม่สามารถใช้พื้นที่ทะเลทำมาหากินได้อีกต่อไป เหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมานี้ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และจัดสรรการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เรื่องราวดังกล่าวควรถูกเผยแพร่สู่ผู้คนเพื่อให้พวกเขาได้เพิ่มจิตสำนึกและรู้คุณค่าของท้องทะเลและมหาสมุทร โดยการบริหารจัดการหรือแผนงานที่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคตควรมีเป้าหมาย ดังนี้

• การป้องกันและลดมลพิษทุกชนิดที่ส่งผลต่อทะเลและมหาสมุทรจัดเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำภายในปี 2025 โดยเฉพาะส่วนที่มีแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์บนพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย และกิจกรรมใดๆ ที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงแร่ธาตุทางทะเล

• ในปี 2020 ควรมีการจัดการและการปกป้องระบบนิเวศในทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงควรเสริมสร้างและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์แข็งแรง

• ระบุปัญหาและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าพีเอช โดยเฉพาะความเป็นกรด (Acidification) ในมหาสมุทร ผ่านการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการถ่ายทอดองค์ความรู้จากทุกภาคส่วน

• ในปี 2020 ต้องออกกฎหมายการทำประมงที่มีประสิทธิภาพ และยุติการทำประมงแบบทำลายและผิดกฎหมาย ผ่านดำเนินการจัดการโดยใช้แผนทางวิทยาศาสตร์ เพื่อฟื้นคืนจำนวนพันธุ์ปลาในระยะเวลาอันรวดเร็ว หรืออย่างน้อยที่สุดควรจะนำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ และยั่งยืน ให้เป็นไปตามลักษณะทางชีวภาพ

• ในปี 2020 จะต้องเกิดการอนุรักษ์อย่างน้อยร้อยละ 10 ของพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งที่สอดคล้องกับกฎหมายระดับชาติและนานาชาติบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับระดับสากล

• ในปี 2020 ห้ามการอุดหนุนกิจกรรมประมงที่จะนำไปสู่การทำประมงเกินเกณฑ์ โดยให้พิจารณาการอุดหนุนนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงควรให้องค์การการค้าโลก (WTO) เข้ามามีบทบาทในการเจรจาต่อรองในประเด็นข้างต้นกับประเทศที่กำลังและด้อยพัฒนา

• ในปี 2030 ทำการเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือผลตอบแทนให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (SIDS) และประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LCDs) โดยพัฒนาแนวทางการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนผ่านการบริหารการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

• เพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมของ Intergovernmental Oceanographic Commission Criteria and Guidelines on the Transfer Marine Technology เพื่อฟื้นฟูสภาพท้องทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (SIDS)

• เพิ่มสัดส่วนและการเข้าถึงทรัพยากรและการตลาดทางทะเลให้กับกลุ่มประมงขนาดเล็ก

• เพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์ทะเลและมหาสมุทร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนผ่านการบังคับใช้กฎหมายสากล ที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ซึ่งมีกรอบแนวทางทางกฎหมาย (Legal framework) ปรากฏอยู่ในวรรคที่ 158 ของเอกสารจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (The Future We Want)

จากลำดับเหตุการณ์ข้างต้น หลายคนอาจสงสัยว่าปัจจุบันท้องทะเลและมหาสมุทรเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ทำไมหลายลำดับแผนงานการอนุรักษ์จึงควรบรรลุเป้าหมายภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี (นับจากวันนี้) นั่นเป็นเพราะทะเลและมหาสมุทรได้ถูกใช้งานอย่างหนักโดยขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ขณะที่บางปัญหานั้นกล่าวได้ว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตแล้ว ดังนั้นในช่วงท้ายบทความนี้ จะขอนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเลดังต่อไปนี้

 

น้ำมันรั่วในทะเล (Oil spill)

การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีความต้องการใช้พลังงานต่างๆ มากขึ้น โดยที่น้ำมันเป็นพลังงานที่มีความต้องการแปรผันตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกน้ำมันจากต่างประเทศโดยใช้การขนส่งทางทะเลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป เราจึงพบการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้น้ำมันเกิดการรั่วไหลลงสู่ทะเลเกิดขึ้นอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุจากเรือ การขุดเจาะน้ำมัน หรือการลักลอบปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำ ทั้งที่เรามีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุมแล้วก็ตาม โดยที่น้ำมันเมื่อเกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (ทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ) เริ่มจากน้ำมันจะเกิดการระเหยสู่อากาศและน้ำมันส่วนที่เหลือจะแปรสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะตัวของน้ำมันชนิดนั้นๆ คราบน้ำมันที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำนี้เองจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่างๆ รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็น ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง ฯลฯ รวมถึงนกน้ำที่จะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่ติดอยู่ตามร่างกายทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้และตายลงในที่สุด ผลกระทบ ดังกล่าวยังส่งผลถึงมนุษย์อีกด้วย เนื่องจากสารพิษต่างๆ จะเกิดการสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงก์ตอนพืช) ผู้บริโภคขั้นต้น (แพลงก์-ตอนสัตว์/ปลา) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง

อันตรายและผลกระทบ จากไมโครบีดส์ (Microbeads)

เชื่อหรือไม่ว่าขณะที่เราใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าหรือแปรงฟัน เราอาจสร้างผลกระทบ ให้กับสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจมี ไมโครบีดส์ (Microbeads) ผสมอยู่ โดยที่ไมโครบีดส์ คือพลาสติกพอลิเอทิลีน หรือพอลิพรอพเพอร์ลีนในรูปของไมโครสเฟียร์ (Microspheres) ขนาดเล็กมากจนแทบจะมองไม่เห็นและเป็นวัตถุที่ไม่สลายตัวตามธรรมชาติ ซึ่งจะยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำตลอดไป โดยมากมักจะพบไมโครบีดส์ ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและสครับขัดผิวหน้า ซึ่งมีการเริ่มนำมาใช้งานตั้งแต่ปี 1972 โดยบริษัทชื่อดังหลายบริษัท วัฏจักรของไมโครบีดส์จะเริ่มจากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ จากนั้นไมโครบีดส์จะไหลตามน้ำลงสู่ระบบน้ำเสีย (ระบบบำบัดน้ำเสียไม่สามารถดักจับได้เพราะมีขนาดที่เล็กมาก) และเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติรวมถึงมหาสมุทร จากนั้นไมโครบีดส์ เข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารขั้นต้นในทะเล โดยระบบห่วงโซ่อาหารนี้จะไปสิ้นสุดลงที่การบริโภคของมนุษย์เช่นเดียวกับกรณีของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเล เมื่อเราบริโภคอาหารทะเลที่มีไมโครบีดส์ปนเปื้อนหรือสะสมอยู่ มลพิษเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปสู่การเกิดมะเร็งและความเจ็บป่วยอื่นๆ เนื่องจากพลาสติกขนาดเล็กนี้ปล่อยสาร BPA และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย ปัจจุบันจึงมีการเริ่มที่จะรณรงค์การลดการใช้งานลง โดยล่าสุดประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ลงนามในร่างพระราชบัญญัติห้ามขายและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การประมงผิดกฎหมาย

สัตว์น้ำในทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ โดยยืนยันได้จากข้อเท็จจริงทางสถิติตัวเลขดังที่กล่าวถึงในข้างต้น  ดังนั้นหากไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลอย่างยั่งยืนสัตว์น้ำในทะเลก็อาจสูญพันธ์ุไปในที่สุด ในปัจจุบันการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้ถูกจับตามองและถูกควบคุมโดยมาตรฐานทางการค้าต่างๆ ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำประมงเพื่อให้ปลาที่จะนำไปขายในสหภาพยุโรปต้องถูกจับมาโดยกระบวนการที่ถูกต้อง โดยที่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าประมงไปยังประชาคมยุโรปต้องรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งออกไปยังประชาคมยุโรปว่าไม่ได้มาจากการทำประมงแบบ IUU (I – Illegal, U – Unreported, U – Unregulated) โดยแนบเอกสารการรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) ประกอบการส่งออกด้วย โดยมาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะลดปริมาณการลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวทางทะเลที่ไม่อนุรักษ์ธรรมชาติ

การท่องเที่ยวทางทะเลนั้นมีกิจกรรมให้เลือกทำมากมาย เช่น การดำน้ำดูปะการัง การเล่นเรือใบ การท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือยอช์ต การท่องเที่ยวชายหาด เป็นต้น แต่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกำลังก่อให้เกิดปัญหาจากความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ การทิ้งขยะลงในทะเล เรือท่องเที่ยวทอดสมอทำลายแนวปะการัง การจับสัตว์ทะเลหายากขึ้นมาโชว์นักท่องเที่ยวบนเรือ เป็นต้น โดยที่สาเหตุหลักเกิดจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมถึงตัวนักท่องเที่ยวเองขาดความเข้าใจและขาดการ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยในส่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้กฎระเบียบต่างๆ ไม่สามารถใช้ควบคุมจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยการจัดการแบบบูรณาการและต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ควรให้ความรู้และดูแลนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเองก็ควรให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด หน่วยงานต่างๆ ควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์


เรื่อง : รองศาสตราจารย์.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล 

         และ นายรัฐพล เจียวิริยะบุญญา

         ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

Facebook : เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:22
X

Right Click

No right click