ลดสิทธิประโยชน์ทางภาษี RMF และ LTF ได้ หรือ เสีย ?

October 11, 2019 2295

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันมาก ก็คือ ข่าวที่กรมสรรพากรจะพิจารณายกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF และ LTF

หลังจากสิ้นปี พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับข่าวนี้ทำให้เกิดคำถามถามกันให้แซดว่าจริงเหรอ? จะยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF และ LTF ทำไม?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจภาระหน้าที่ของกรมสรรพากรก่อนนะครับว่า กรมสรรพากรมีหน้าที่ในการเก็บภาษีเพื่อหาเงินให้รัฐมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และที่ผ่านมาประเทศก็มีการใช้จ่ายเงินในนโยบายต่างๆ มากมาย และยังต้องการเงินอีกมากในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ทำให้กรมสรรพากรต้องหาทางเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ทีนี้เมื่อกรมสรรพากรต้องเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น กรมสรรพากรจะทำไงดีหล่ะ หากเรามองกรมสรรพากรเหมือนบริษัทขายของ หากต้องการมีรายได้มากขึ้น ก็ทำ 2 อย่าง

  1. ขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
  2. เพิ่มยอดการใช้สินค้าของลูกค้าเดิมให้ได้มากขึ้น

ในธุรกิจทั่วไป ใน 2 กลยุทธ์นี้ กลยุทธ์ที่มีผลต่อการสร้างรายได้ได้มากกว่า คือ กลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น เหตุผลก็เพราะการเพิ่มยอดการใช้สินค้าของลูกค้าเดิมนั้นมีขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นขีดจำกัดจากฐานะการเงินของลูกค้า หรือ ขีดจำกัดจากลักษณะของสินค้า ตัวอย่างเช่น หากเราขายบะหมี่สำเร็จรูป ต่อให้ทำโปรโมชั่นกับลูกค้าเดิมมากเท่าไหร่ก็ตาม อย่างมากสุดลูกค้าก็จะซื้อได้เต็มที่ คือ 3 มื้อต่อวันเท่านั้น แต่หากเราขยายฐานลูกค้าเช่นจากตลาดในประเทศ เป็นตลาดทั่วโลก ยอดขายบะหมี่ก็สามารถเติบโตได้อีกมากมาย

แต่ถ้าถามว่า กลยุทธ์ไหนทำได้ง่ายกว่า คำตอบก็คือ กลยุทธ์การเพิ่มยอดการใช้สินค้าของลูกค้าเดิมให้ได้มากขึ้น เพราะลูกค้าเดิมรู้จักสินค้าดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องทำการตลาดมากมายนัก

และหากสมมุติว่าพวกเราเป็นกรมสรรพากร เมื่อต้องการเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น เราจะเลือกวิธีการแบบไหนใน 2 ข้างต้น

การขยายฐานผู้เสียภาษี…ได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ในด้านการขยายฐานลูกค้าของกรมสรรพากร ก็คือ การขยายฐานผู้เสียภาษี และจากข้อมูลกรมสรรพากรปี พ.ศ. 2554 พบว่าคนไทยมีประมาณ 66 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 38 ล้านคน แต่มีผู้ที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกรมสรรพากร (ภ.ง.ด.90, 91) เพียง 11.7 ล้านคน แต่ในบรรดาคนที่มายื่นแบบ 11.7 ล้านคนนั้น มีผู้ที่เสียภาษีจริงๆ แค่ 2 ล้านคน เพราะประมาณ 9 ล้านคนที่เข้ามายื่นภาษีฯ อยู่ในระบบแล้ว เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ เหลือเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี จึงหลุดออกไปอยู่นอกฐานภาษีโดยปริยาย

และในกลุ่มผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ล้านคนนั้น มีผู้ที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% ของรายได้สุทธิ อยู่ประมาณ 30,000 คน ซึ่งจ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้ อย่างในปีงบประมาณ 2554 กรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 236,339 ล้านบาท ซึ่งมีผู้มีรายได้สูงประมาณ 30,000 คนนี้ จ่ายภาษีประมาณ 120,000 ล้านบาท เฉลี่ยจ่ายภาษีคนละ 4 ล้านบาทต่อปี ส่วนผู้เสียภาษีที่เหลืออีกประมาณเกือบ 2 ล้านคน จ่ายภาษีได้ประมาณ 120,000 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัวจ่ายภาษีคนละประมาณ 60,000 บาทต่อปี

สรุปง่ายๆ คือ คน 2 ล้านคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลี้ยงคน 66 ล้านคน

จากตัวเลขดังกล่าว พอมองเห็นได้ว่า ปัญหาใหญ่ในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร คือ ปัญหาประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และจากข้อมูลผลการศึกษาของธนาคารโลกปี พ.ศ. 2551 ระบุว่า ประเทศไทยควรจะเก็บภาษีได้ 21.35% ของจีดีพี แต่ปรากฏว่าเก็บได้จริงเพียงแค่ 16.20% ของจีดีพีเท่านั้น

และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของไทยอยู่ในระดับต่ำมากแค่ 0.76% และถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.90% ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.08%

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 52.6% ของจีดีพี ดังนั้นหากกรมสรรพากรต้องการเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น น่าจะตามพวกเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น ซึ่งน่าจะได้ภาษีกลับเข้ามามาก

การเก็บภาษีจากฐานผู้เสียภาษีเดิมให้มากขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ในคนไทยทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน มีผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่เพียง 2 ล้านคนเท่านั้น และใน 2 ล้านคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลี้ยงคน 66 ล้านคนนั้น จากข้อมูลกรมสรรพากรเช่นกันพบว่าส่วนใหญ่ก็คือ พวกมนุษย์เงินเดือนที่เสียภาษีปีละ 12 ครั้ง (ขณะที่คนอื่นเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง) แต่กลับเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีน้อยสุด เช่น การหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 40% แต่ก็ถูกจำกัดเพดานเพียง 60,000 บาท เทียบกับผู้มีเงินได้ตามมาตราอื่นๆ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เป็นร้อยละของเงินได้ ไม่มีการกำหนดเพดาน ทำให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่มนุษย์เงินเดือนได้ก็เหมือนกับคนอื่นๆ อย่างเช่น สิทธิประโยชน์การหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิต เงินบริจาค การศึกษาลูก ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ฯลฯ

ดังนั้นหากกรมสรรพากรต้องการเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาษีด้วยกลยุทธ์การเก็บภาษีจากฐานผู้เสียภาษีเดิมให้มากขึ้น สิ่งที่กรมสรรพากรมักทำก็คือ การพิจารณาลดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งก็เป็นที่มาของข่าว กรมสรรพากรลดสิทธิประโยชน์ทางภาษี RMF และ LTF

แม้ภาระหน้าที่ของกรมสรรพากร คือ การเก็บภาษีเพื่อหาเงินให้รัฐมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่กรมสรรพากรก็จะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ค่าลดหย่อนในบางเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเช่นกัน อย่างเช่น การลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันชีวิต หรืออย่างการให้สิทธิประโยชน์กองทุน RMF หรือ LTF ที่เป็นประเด็นตอนนี้ ก็เช่น RMF เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ส่วน LTF ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรู้จักการลงทุนในหุ้นระยะยาว และเพื่อส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเสถียรภาพ เป็นต้น ดังนั้นการที่กรมสรรพากรจะพิจารณาเพิ่มหรือยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็จะพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ของการให้สิทธิประโยชน์นั้นยังจำเป็นหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเราสบายใจได้ระดับหนึ่งนะครับ เพราะจากข้อมูลล่าสุดที่ฟังจากท่านอธิบดีกรมสรรพากรก็คือ จะไม่มีการยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์กองทุน RMF เพราะเห็นว่า RMF ยังเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นกองทุน LTF จึงเป็นกองทุนเดียวที่จะหมดสิทธิประโยชน์ในปี พ.ศ. 2559 โดยเหตุผลที่กรมสรรพากรพิจารณายกเลิกสิทธิประโยชน์ LTF นั้น ก็ด้วยว่ามีเฉพาะคนรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

ซึ่งในประเด็นนี้ คำถามคือ คนรวยที่กรมสรรพากรกล่าวถึงมีกี่คน? จากข้อมูลกรมสรรพากรปี พ.ศ. 2554 ที่กล่าวไปแล้ว กลุ่มผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ล้านคนนั้น มีผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 4 ล้านบาทต่อปี เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% ของรายได้สุทธิ อยู่ประมาณ 30,000 คนเท่านั้น แต่คนที่ซื้อ LTF มีมากมาย ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ขนาดกองทุน LTF ใหญ่ถึง 226,000 ล้านบาท มากกว่าจำนวนที่คนรวยสามารถซื้อได้มากมายนัก ดังนั้นพอสรุปได้ว่า คนที่ซื้อ LTF ไม่ได้มีเพียงคนรวยอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่าส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนครับ

ดังนั้น การลดสิทธิประโยชน์ LTF ไม่เพียงจะลดสิทธิประโยชน์คนรวย แต่จะกระทบสิทธิประโยชน์ของมนุษย์เงินเดือนที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางด้วย

ส่วนคนรวยจริงๆ ไม่ได้เดือดร้อนจากการลดสิทธิประโยชน์ LTF มากมายนัก เพราะมีคนรวยเพียง 30,000 คนดังกล่าวที่ใช้สิทธิประโยชน์ LTF นอกจากนี้คนรวยยังมีช่องทางในการบริหารภาษีอีกมากที่หากกรมสรรพากรต้องการเก็บภาษีให้มากขึ้น น่าจะพุ่งความสนใจไปที่ช่องทางดังกล่าว เช่น คณะบุคคล ซึ่งก็ทราบกันดีว่า เป็นช่องทางหนึ่งของการวางแผนภาษี ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ใช้ช่องทางนี้ ก็เป็นพวกวิชาชีพอิสระ พวกนักร้อง นักแสดง ฯลฯ กรมสรรพากรก็ทราบดีอยู่แล้วเช่นกันว่า คนกลุ่มนี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงมาก ไม่มีเพดาน ถามว่าคนที่ใช้ช่องทางคณะบุคคลเดือดร้อนหรือไม่กับการลดสิทธิประโยชน์ LTF คนกลุ่มนี้ไม่เดือดร้อนเลย เพราะคณะบุคคลซื้อ LTF หรือ ประกันชีวิตไม่ได้อยู่แล้ว แต่กับพวกมนุษย์เงินเดือนไม่สามารถใช้ช่องทางคณะบุคคลนี่สิ ก็ยังคงต้องเป็นคนดีที่ไม่มีทางออกต่อไป ในรัฐบาลชุดก่อนเองก็เคยมีนโยบายปรับปรุงโครงสร้างภาษีของคณะบุคคล ซึ่งผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้การจัดเก็บภาษีมีความยุติธรรมมากขึ้น แต่ตอนนี้เรื่องนี้กลับเงียบหายไป

หรืออีกอย่างที่ตอนนี้คนรวยทำกันมาก คือการหาเงินได้ในรูปนิติบุคคล เหตุผลเพราะจากโครงสร้างภาษีที่ยังไม่ยุติธรรม อย่างเช่น การที่กรมสรรพากรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% มาอยู่ที่ 20% ทำให้อัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงของเจ้าของธุรกิจ เหลือ 28% แต่ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 37% มาอยู่ที่ 35% กับบุคคลธรรมดา กรณีนี้ก็จะทำให้บุคคลธรรมดาที่มีทางเลือก (ผู้ที่ไม่ได้มีเงินได้หลักมาจาก 40 (1) ) ก็มีแนวโน้มที่จะวางแผนภาษีโดยการจัดตั้งนิติบุคคลมากขึ้น เพราะหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ไม่จำกัดเพดาน และฐานภาษีก็ต่ำกว่า เพราะไม่ว่ารายได้สุทธิจะเป็นเท่าไหร่ ก็เสียภาษีแค่ 20% ส่วนบุคคลธรรมดา ถ้าเงินได้สุทธิเกิน 1 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีสูงกว่า 20% แล้ว ความไม่ยุติธรรมนี้ก็จะเป็นช่องโหว่ให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้น้อยลงอีก ซึ่งเรื่องนี้ผมดีใจมากที่ได้เห็นคณะนักวิชาการออกมาพูดว่าจะปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้ให้มีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ขอแถมเพิ่มอีกนิด บางกรณีที่ไม่ควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเลย อย่างเช่น โรงเรียนกวดวิชาทั้งหลายที่ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ทำเป็นธุรกิจ หลายที่มีครูสอนจริงๆ แค่ครั้งเดียว นอกนั้นเป็นการเรียนจากเทป ทำให้เจ้าของโรงเรียนกวดวิชานอกจากได้รับรายได้ที่สูงมาก ลงทุนน้อย แต่กลับได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่จัดเก็บภาษีตามกฎหมาย

และหากมองด้านประโยชน์ของการให้สิทธิประโยชน์ LTF ที่เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรู้จักการลงทุนในหุ้นระยะยาว และเพื่อส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเสถียรภาพนั้น ปัจจุบันคนไทยรู้จักการลงทุนในหุ้นดีพอแล้วหรือยัง ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเสถียรภาพไม่ถูกชี้นำโดยนักลงทุนต่างชาติหรือยัง? คำตอบเรื่องนี้ สำหรับผม คือ คนไทยส่วนน้อยมากๆ ที่รู้จักการลงทุน ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการเงิน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเสถียรภาพจากการชี้นำของต่างชาติหรือไม่ เราก็เห็นๆ กันอยู่นะครับ ว่าต่างชาติซื้อทีไร หุ้นขึ้น ต่างชาติขายทีไร หุ้นตก

สรุปก็คือ หากกรมสรรพากรต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี ควรพิจารณาขยายฐานผู้เสียภาษีให้มากขึ้น แม้จะยากก็ต้องทำ ผมเชื่อมั่นว่าหากกรมสรรพากรทำได้ จะได้เงินภาษีเข้ามามากกว่าการมาลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากมายนัก แถมอาจจะทำให้อัตราภาษีของนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาปรับลดมากกว่านี้ได้อีก


เรื่อง : สาธิต บวรสันติสุทธิ์

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 178 July-August 2014

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 17 October 2019 08:45
X

Right Click

No right click