×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

2016 Food Innovation & Technology Learning Trend

July 07, 2017 4127

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคนี้ เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพนั้นมาแรงแซงทางโค้งจริงๆ

อย่างในตอนนี้ผู้คนให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุดเพื่อคงคุณค่าสารอาหารในอาหารนั้นไว้ได้อย่างครบถ้วน ก็ยิ่งทำให้ภาคผู้ผลิตอาหารหาทางที่จะผลิตสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพออกมาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยเครื่องมือสำคัญที่ผู้ผลิตเลือกใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนหนีไม่พ้น นวัตกรรมและเทคโนโลยี 

เพราะฉะนั้น Keywords ที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารควรให้ความสำคัญเพื่อผลิตสินค้าออกมาได้โดนใจผู้บริโภค นั่นคือ นวัตกรรม (Innovation) เทคโนโลยี (Technology) และ สุขภาพ (Health) ซึ่งสามคำนี้ก็เป็น Keywords สำคัญในการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร (Bachelor of Science Program in Innovation in Food Technology) ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถพร้อมเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของมหาวิทยาลัยในการเป็น Health Promotion University นั่นเอง

อาจารย์ทับกฤช ขุมทรัพย์ รักษาการหัวหน้าสาขาวิชา นวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ในปัจจุบัน หลักสูตรที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งคล้ายกับหลักสูตรนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร ที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนเปิดอยู่ จะเปิดสอนในชื่อ Food Technology หรือ Food Science ที่มีสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นผู้ช่วยร่างหลักสูตรขึ้นมา เพราะฉะนั้นเนื้อหาการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารเป็นหลัก แต่สำหรับหลักสูตรนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน ได้ถูกออกแบบมาให้มีความแตกต่างจากหลักสูตรของสถาบันอื่นอย่างชัดเจน 

“หลักสูตร นวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร นี้พัฒนามาจากหลักสูตรเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาการ ของคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2554 จนมาในปี 2557 จึงได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรโดยยังคงการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการไว้ เพราะมีความสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหาร แต่อย่างไรก็ตาม ได้ต่อยอดด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตอาหารด้วย จึงจะทำให้นักศึกษาสามารถนำไปปรับใช้เพื่อคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคนี้ได้จริง นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นและมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาด้านสุขภาพ จึงได้มีการสอดแทรกองค์ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพเข้าไปด้วย” 

นอกจากนั้น อาจารย์ทับกฤชยังชี้ให้เห็นว่า อีกหนึ่งจุดแข็งของหลักสูตรนี้ยังอยู่ที่การกำหนดให้การเรียนในชั้นปีที่ 4 เป็นช่วงเวลาของการฝึกฝนในวิชาสหกิจศึกษา โดยนักศึกษาจะมีโอกาสได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาไปปรับใช้ในการทำงาน ในบรรยากาศของสถานประกอบการจริง ซึ่งอาจารย์ทับกฤชอธิบายเพิ่มเติมว่า ในสถาบันการศึกษาอื่นอาจกำหนดให้เป็นช่วงเวลาของการฝึกงาน ไม่ได้นับเป็นจำนวนหน่วยกิตในการศึกษา แต่ที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนนั้น กำหนดให้เป็นหน่วยกิตที่นักศึกษาต้องให้ความสำคัญและเรียนรู้ในการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารในวิชาสหกิจศึกษานี้ด้วย 

“ที่ผ่านมา ในวิชาสหกิจศึกษามีนักศึกษาจากหลักสูตรของเราไปทำงานใน 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่สนใจทำงานในด้านโภชนาการอาหาร ก็สามารถสมัครไปทดลองทำงานที่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการไว้ โดยนักศึกษาจะได้รับความรู้และประสบการณ์ทางโภชนาการทั้งในด้านคลินิกว่า คนไข้ป่วยเป็นโรคนี้ จะบริโภคอาหารประเภทไหนได้บ้าง หรือมีอาหารอะไรที่ช่วยในการบำบัดอาการของโรคนั้นให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้บ้าง และอีกแขนงหนึ่งคือการเรียนรู้ด้านการจัดการอาหารในโรงพยาบาล ว่าจะจัดระบบการส่งอาหารอย่างไรให้ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นการเรียนรู้ในด้านโลจิสติกส์ฉบับย่อมๆ ด้วย”

ผศ.ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน

 

ด้วยการกำหนดให้นักศึกษาต้องลงทะเบียนรายวิชาสหกิจศึกษา 2 ภาคการศึกษาเช่นนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ในภาคการศึกษาแรกนักศึกษาอาจเลือกเรียนรู้งานด้านโภชนาการก่อน และในภาคการศึกษาที่สองจึงไปเรียนรู้งานด้านเทคโนโลยีอาหารในบริษัทหรือโรงงานที่ผลิตอาหารประเภทต่างๆ โดยในจุดนี้ อาจารย์ทับกฤชได้ชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งของมหาวิทยาลัยคริสเตียน ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารจำนวนมากและยังเป็นศูนย์กลางของการขนส่งหรือโลจิสติกส์สินค้าที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เช่น วัตถุดิบทางการเกษตร จึงทำให้นักศึกษามีทางเลือกที่จะศึกษาเรียนรู้งานได้ในสถานประกอบการหลากหลายรูปแบบที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย 

“โดยอาจารย์ประจำหลักสูตรมีหน้าที่พิจารณาด้วยว่าโจทย์ที่ได้ประสานงานไว้กับสถานประกอบการที่ต้องการให้นักศึกษาไปฝึกงานนั้นตรงกับที่นักศึกษาต้องการหรือไม่ เพราะในเนื้อหาวิชาสหกิจศึกษานี้มีการกำหนดให้นักศึกษาต้องไปทำโครงงานในรูปแบบของการวิจัยเพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมกับสถาน-ประกอบการที่ตนไปฝึกงานด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งที่นักศึกษาซึ่งได้ไปช่วยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่และไปช่วยแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

เพราะฉะนั้น ด้วยการออกแบบหลักสูตรให้มีเนื้อหาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติครบถ้วนเช่นนี้ จึงเชื่อมั่นได้ว่า บุคลากรที่หลักสูตรนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยคริสเตียน ผลิตออกไปนั้น สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารได้อย่างแน่นอน  

ทว่า อาจารย์ทัชกฤชยังเน้นย้ำถึงคุณสมบัติของผู้เรียนด้วยว่า “เนื่องจากหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับ “นวัตกรรม”เพราะฉะนั้นผู้เรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นคนไม่หยุดนิ่ง ชอบคิดไอเดียแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา จะประสบความสำเร็จในการเรียนหลักสูตรนี้ได้เป็นอย่างดี และในการคิดค้นนวัตกรรมที่น่าสนใจ ทำขึ้นได้จริงนี้ จำเป็นต้องมีความรู้หลายแขนงด้วย นี่เป็นสาเหตุให้มหาวิทยาลัยฯ ออกแบบหลักสูตรให้ยังคงมีวิชาที่ปูพื้นฐานด้านอาหารและโภชนาการ พร้อมสอดแทรกความรู้ด้านการประกอบการ ให้ผู้เรียนสามารถคิดต่อยอดนวัตกรรมนั้นไปในเชิงพาณิชย์ได้ ตลอดจนสอนหลักการประกอบธุรกิจในระดับ SMEs และหลักการโลจิสติกส์เบื้องต้นในฐานะเครื่องมือในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้บัณฑิตที่จบไป ไม่ใช่แค่สามารถทำงานเป็นบุคลากรของสถานประกอบการได้เท่านั้น แต่พวกเขายังออกไปทำธุรกิจ ประกอบอาชีพอิสระ เป็น Startup และเจ้าของกิจการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพเองได้ด้วย”

และด้วยคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยังมีอีกหลักสูตรหนึ่งที่อยู่ภายใต้การเรียนการสอนในคณะนี้คือ หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณาจารย์ในคณะทั้ง 2 หลักสูตรจึงร่วมกันทำงานวิจัยที่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการสอนที่ช่วยเปิดมุมมองให้นักศึกษาเรียนรู้จากการทำงานวิจัยของอาจารย์ด้วย ซึ่งอาจารย์ที่นี่จะทำวิจัยในลักษณะสหวิทยาการ เช่น อาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่เก่งด้านโภชนาการ โดยใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงโภชนาการมาเป็นหัวข้อวิจัย ยกตัวอย่าง งานวิจัยของอาจารย์ที่นำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาแปรรูปเป็นน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่และเติมงาดำเข้าไปเพื่อเพิ่มคุณค่าของการต่อต้านอนุมูลอิสระ และนำไปให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วรับประทาน เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถบรรเทาอาการผู้ป่วยโรคเบาหวานได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยงานวิจัยเหล่านี้มาจากนโยบายด้านการพัฒนางานวิจัยร่วมกันแบบสหวิทยาการของคณาจารย์มหาวิทยาลัยคริสเตียน ที่เรียกว่า “งานวิจัยมุ่งเป้า” หมายถึง งานวิจัยที่สามารถนำไปปรับใช้ หรือนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้จริง

เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญในการสร้างหลักสูตรที่ศึกษาเกี่ยวกับ นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร ในยุคนี้ จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นพหุวิทยาการหรือสหวิทยาการ เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ มาถ่ายทอดให้กับผู้เรียนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในรูปแบบที่ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงาน การคิดค้น เพื่อต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากที่สุดนั่นเอง

Last modified on Tuesday, 19 November 2019 07:07
X

Right Click

No right click