เคทีซีแจงผลประกอบการไตรมาส 1/2562 กำไรสุทธิ 1,589 ล้านบาท เติบโต 31% การดำเนินธุรกิจโดยรวมเป็นไปตามคาด เดินหน้าปรับแผนการตลาดต่อเนื่องรับกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรบรรลุเป้าหมาย พัฒนาระบบออนไลน์ทุกฟังก์ชัน      ตอบโจทย์สมาชิก พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อให้องค์กรเติบโตต่อเนื่องควบคู่สร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาพรวมอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคมีการแข่งขันสูงขึ้น จากการเข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยมากขึ้นของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ทำให้ทุกบริษัทฯ ในธุรกิจนี้ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยในช่วง 3 เดือนแรก อุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยังคงมีอัตราเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า”  

“สำหรับไตรมาสแรกของปี 2562 เคทีซีได้ปรับแผนการตลาดต่อเนื่องให้ทันต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง โดยสามารถขยายฐานบัตรได้ดีและควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน มีรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น มีการปรับกระบวนการทำงานสม่ำเสมอ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มไม่มากนัก คุณภาพพอร์ตลูกหนี้รวมดี รวมทั้งการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญลดลง จึงเป็นผลให้กำไรสุทธิดีเกินคาด โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 31% ด้วยกำไรสุทธิ 1,589 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทฯ รวมอยู่ที่ 1.18% โดยรายได้ในไตรมาสแรกที่เติบโตมาจากการขยายฐานสมาชิกบัตรใหม่ทั้งกลุ่มลูกค้าระดับบน (Premium) และรักษาฐานสมาชิกระดับกลาง (Mass) อีกทั้งการออกโปรแกรมการตลาดและการใช้สื่อออนไลน์ที่เข้าถึงสมาชิกเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิก”

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เคทีซีมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 76,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิ คิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 75,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ฐานสมาชิกรวม 3.3 ล้านบัญชี เติบโต 8.2% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,348,990 บัตร ขยายตัว 6.4% ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 48,413 ล้านบาท สัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.5% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 12.2% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 49,091 ล้านบาท เติบโต 10.4% (อุตสาหกรรมเติบโตที่ 8.6%) ส่วนแบ่งตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.2% อยู่ในระดับเดียวกับสิ้นปี 2561 ที่มีค่า 11.2% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.04% ลดลงจาก 1.14% (อุตสาหกรรม 2.02%)

 

“พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซีเท่ากับ 967,059 บัญชี ขยายตัว 12.8% ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 26,483 ล้านบาท สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซีเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถเทียบเคียงกับในอดีตได้ เนื่องจากมีการรวมลูกหนี้สินเชื่อทะเบียนรถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขอุตสาหกรรมสินเชื่อบุคคล และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.78% ลดลงจาก 0.82% (อุตสาหกรรม 3.49%) โดยสัดส่วน ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 605% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 591% สำหรับปริมาณการซื้อขายผ่านร้านค้ามีมูลค่า 22,282 ล้านบาท เติบโต 6% และจำนวนร้านค้าสมาชิกเท่ากับ 37,787 แห่ง เพิ่มขึ้น 13% จากโครงการขยายร้านค้าออนไลน์และโครงการขยายร้านค้าอาลีเพย์”

“ไตรมาสแรกของปี 2562 เคทีซีมีอัตราเติบโตของรายได้รวมสูงกว่าค่าใช้จ่าย โดยสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 9% เท่ากับ 5,574 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มที่ 9% และ 10% เท่ากับ 3,267 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียม 1,235 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 1,072 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วน 59% 22% และ 19% ของรายได้รวมตามลำดับ โดยที่รายได้อื่นๆ มีสัดส่วน 88%       มาจากหนี้สูญได้รับคืน และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) อยู่ที่ 3,590 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ    ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,603 ล้านบาท แม้ว่าพอร์ตจะมีการขยายตัวแต่ด้วยลูกหนี้ที่มีคุณภาพ ทำให้การตั้งสำรองลดลง และค่าใช้จ่ายการเงินที่เป็นต้นทุนเงินลดลงที่ 2% เนื่องจากบริษัทฯ ออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยต้นทุนเงินที่ต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยต้นทุนของหุ้นกู้เดิม โดยรักษาสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) ที่ต่ำอยู่แล้วให้ลดลงอีกเหลือ 24.9% จาก 27.2% ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน”

“บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 26,730 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 15,720 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 11,010 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงินไตรมาส 1/2562 เท่ากับ 2.91% ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ที่มีอัตรา 3.02% โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อ   ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.25 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า”

ในปี 2562 นี้ เคทีซีมุ่งหมายการดำเนินงานไปที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก (Customer Needs) โดยจะเน้นนำเสนอสิทธิประโยชน์ด้านออนไลน์ที่เข้มข้น ไม่น้อยกว่าการใช้บัตรที่ร้านค้าปกติ เพื่อให้สมาชิกเคทีซีหรือกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายนึกถึงบัตรและแบรนด์เคทีซีเป็นอันดับต้นๆ ควบคู่กับการพัฒนาระบบออนไลน์ และแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” ที่เน้นให้ทุกฟังก์ชันการทำงานมีประโยชน์ สะดวก และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ตลอดจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ผ่าน นาโน-พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายหลักในการเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีอย่างยั่งยืน

เบทาโกร จัดงาน “ไส้กรอกเบทาโกร ชีส ซีรีส์ ยืดให้สุด อร่อยไม่มีสะดุด” กอดคอ โป๊ป ธนวรรธน์   พรีเซ็นเตอร์ ส่งมอบความอร่อยใหม่อย่างมีคุณภาพแบบยืดสุดของไส้กรอกเชดด้าชีส 6 รสชาติ   แฟนคลับแห่ร่วมสนุกสุดฟินกับกิจกรรม Meet & Greet พร้อมชวนลุ้นรับ iPhone XR 40 เครื่อง ใน 8 สัปดาห์

เครือเบทาโกร จัดงาน “ไส้กรอกเบทาโกร ชีส ซีรีส์ ยืดให้สุด อร่อยไม่มีสะดุด” โดยมีนายวสิษฐ แต้ ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นประธานเปิดตัวไส้กรอกเบทาโกร ชีส ซีรีส์ 2 รสชาติใหม่ ได้แก่ ไส้กรอกไก่รสฮอกไกโดมิลกี้ชีส และ ไส้กรอกไก่รสเฟรนช์กาลิคบัตเตอร์ชีส พร้อมเปิดแคมเปญ “ชีสยืดสุด อร่อยไม่มีสะดุด แจก iPhone” ต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ รวม 40 เครื่อง เพื่อขอบคุณลูกค้าและแฟนคลับ โดยมี โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ พรีเซ็นเตอร์ ไส้กรอก BETAGRO ร่วมส่งมอบความอร่อยใหม่อย่างมีคุณภาพ พร้อมร่วมสนุกผ่านเกมลุ้นโชค และกิจกรรมสุดฟิน Meet & Greet ในงาน ณ สยามสแควร์ วัน กรุงเทพฯ

กิจกรรมเริ่มขึ้นด้วยเสียงกรี๊ด เมื่อ “โป๊ป” เดินออกมาพร้อมไส้กรอก BETAGRO ชีส ซีรีส์ ที่ส่งมอบให้แฟนคลับแบบ   ถึงมือตลอดทางเดิน พร้อมทักทายและพูดคุยอัพเดทผลงาน จากนั้นเป็นไฮไลท์ของงาน โดยคุณวสิษฐ ผู้บริหารเบทาโกร เล่าถึงความสำเร็จของไส้กรอก BETAGRO ชีส ซีรีส์ และร่วมเปิดแคมเปญใหม่กับ โป๊ป โดยทั้ง 2 คนดึงไส้กรอกออกจากกัน และมีชีสยืดออกมายาวสุด ถือเป็นการ Kick Off แคมเปญ “ชีสยืดสุด อร่อยไม่มีสะดุด แจก iPhone” และปิดท้ายด้วยช่วงเวลา Meet & Greet ที่ทุกคนรอคอย ได้เล่นเกมสนุกสุดฟินและถ่ายรูปแบบ Exclusive ใกล้ชิดกับโป๊ปอย่างอบอุ่น

 

นายวสิษฐ กล่าวว่า “ปีที่ผ่านมาเครือเบทาโกร ออกแคมเปญไส้กรอกรมควัน โดยมี โป๊ป เป็นพรีเซ็นเตอร์ไส้กรอก BETAGRO คนแรก ชวนทุกคนมาเปิดสัมผัสความอร่อย ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง กิจกรรมในวันนี้เป็นความตั้งใจของเบทาโกรเพื่อส่งมอบความอร่อยใหม่ของไส้กรอกเบทาโกร ชีส ซีรีส์ ซึ่งคัดสรรวัตถุดิบ เนื้อหมู เนื้อไก่คุณภาพจากเบทาโกรและเชดด้าชีสชั้นเลิศ มาผลิตเป็นไส้กรอกคุณภาพดีและรสชาติอร่อย 6 รสชาติ พร้อมด้วยแคมเปญพิเศษ แจก iPhone XR เป็นการขอบคุณลูกค้าและแฟนคลับโป๊ป ที่ให้การสนับสนุนเบทาโกรมาโดยตลอด ซึ่งเบทาโกรจะยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งมอบอาหารคุณภาพให้ถึงมือผู้บริโภค และขยายสู่วงกว้างโดยเฉพาะช่องทางรถทอด ฝากทุกคนสนับสนุนไส้กรอกชีส BETAGRO และติดตามร่วมสนุกกับแคมเปญใหม่นี้กันด้วยนะครับ”

เอสซีจี เดินหน้าตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ลงทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. หนึ่งในผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย พร้อมรองรับตลาดที่มีประชากรสูงถึง 270 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาส การเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ในอนาคต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “เอสซีจี ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมั่นคงในระยะยาว (Long-term Growth) ด้วยการขยายฐานการลงทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ได้เข้าลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วนร้อยละ 55 ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. (หรือ “Fajar”) ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย จากผู้ถือหุ้นปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.6 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 21,150 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า จะดำเนินธุรกรรมแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 โดยใช้แหล่งเงินทุนจากภายใน นอกจากนี้ เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งในอนาคต เอสซีจีอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุนของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นี้

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “การเข้าถือหุ้นข้างมากใน Fajar จะช่วยขยายการเติบโตของเอสซีจีในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งธุรกิจแพคเกจจิ้งมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต โดยหากพิจารณาจากจำนวนประชากร 270 ล้านคน และอัตราการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ต่อคนของอินโดนีเซียแล้ว ศักยภาพการเติบโตของตลาดกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันที่รุนแรงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีขีดความสามารถสูง และมีศักยภาพในการขยายธุรกิจครอบคลุมอาเซียน โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมาก โดยมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเป็นผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Total Packaging Solutions Provider) รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า บริการ และกระบวนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการใช้งานของผู้บริโภค ตลอดจนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทางของเอสซีจี หรือ SCG Circular Way

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 87,255 ล้านบาท โดยมีกำไรสำหรับปี 6,319 ล้านบาท ขณะที่ Fajar ในปี 2561 มียอดขายกระดาษบรรจุภัณฑ์รวม 1.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9.94 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 21,900 ล้านบาท) และมีกำไรสำหรับปีประมาณ 1.41 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 3,100 ล้านบาท)

นายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ทีเอ็มบี  รับรางวัล Digital Bank of the Year Award 2018 ในงาน The Asset Triple A Digital Awards 2018  ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโฟร์ซีซัน ฮ่องกง เมื่อเร็วๆนี้ รางวัลที่ได้รับนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลงานด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งที่โดดเด่นของทีเอ็มบีที่ได้รับรางวัลในหลากหลายสาขา ดังนี้ ผลงานจากการผสานใช้เทคโนโลยีด้านการเงิน ผ่านการใช้ข้อความเตือนในแอปพลิเคชัน  TMB TOUCH  ผลงานจากการออกแบบประสบการณ์ในรูปแบบ Gamification ของ TMB WOW เพิ่มประสบการณ์ความสนุกในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน  และผลงานการสร้างประสบการณ์ การบริจาค ครบทั้งกระบวนการผ่านช่องทางดิจิทัล เว็บไซต์ ปันบุญ www.punboon.org  ศูนย์รวมมูลนิธิและองค์กรการกุศลทั่วประเทศ ตอกย้ำบทบาทของธนาคารที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด Make THE Difference  ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ย้ำเจตนารมณ์การเป็นธนาคารที่ให้ลูกค้าได้มากกว่าในยุคดิจิทัล

เอสซีจี โดยนายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และนายศาณิต เกษสุวรรณ ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมกับกองทัพบก และเครือข่ายจิตอาสา ส่งมอบถังเก็บน้ำผลิตด้วยวัสดุพอลิเมอร์ “เอลิเซอร์” ของเอสซีจี จำนวน 115 ถัง ให้แก่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50 ถัง และนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จำนวน 65 ถัง เพื่อช่วยเหลือเเละบรรเทาภัยแล้งระยะเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง” ที่ร่วมเฉลิมพระเกียรติเเละถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์ พร้อมเชิญชวนจิตอาสาระดมพลังสร้างฐานติดตั้งถังเก็บน้ำจากวัสดุรีไซเคิลที่เหลือจากการก่อสร้าง ซึ่งออกแบบโดยทีมงานเอสซีจีให้สอดคล้องกับแนวทาง SCG Circular Way หรือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.scg.com/volunteerproject

เอสซีจี ยังคงมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายจิตอาสาทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมเชิญชวนทุกภาคส่วนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” ผ่านการดำเนิน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง” กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” และกิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” เพื่อสร้างพลังที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การผลักดันสังคม และชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความยั่งยืน และสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป

ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น มีความยินดีที่จะประกาศการแต่งตั้ง นายอันโดะ มูเนะโนริ เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของเอปสัน สิงคโปร์ ดูแลกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการประจำประเทศของเอปสัน ประเทศไทย และเอปสัน ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ นายอันโดะ ยังดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ของเอปสันที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย

ทั้งนี้ นายอันโดะ รับตำแหน่งต่อจากนายโตชิมิตสุ ทานากะ ที่จะกลับไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโสที่แผนกวางแผนการขายและฝ่ายสื่อสารการตลาดที่ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น

นายอันโดะ เคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดที่ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น  ดูแลรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาโครงสร้างการขายและกลยุทธ์สำหรับผลิตภัณฑ์ของเอปสันทั่วโลก

นายอันโดะ ยังดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่งในเอเชียและอีกหลายประเทศ รวมถึงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับภูมิภาค และมีประสบการณ์ในการบริหารมาหลายสิบปี นายอันโดะเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเอปสัน จีน ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560 ด้วยการนำกลยุทธ์ “เทคโนโลยีผสมผสานกับพื้นที่” ทำให้สามารถขยายธุรกิจในประเทศจีนได้อย่างเต็มที่ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นในตลาดสำคัญๆ รวมทั้งตลาดพรินเตอร์ โปรเจคเตอร์ และหุ่นยนต์

นายอันโดะทำงานประจำที่สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสิงคโปร์ ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2551 โดยรับผิดชอบในการพัฒนาตลาดให้แก่พรินเตอร์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นายอันโดะยังเป็นหัวหน้าทีมธุรกิจพรินเตอร์ ณ จุดขาย (POS) ในยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 - 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่นายอันโดะประสบความสำเร็จในการเติบโตของธุรกิจตลาดพรินเตอร์ POS ผ่านการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เอปสันกลายเป็นที่ 1 ในตลาดพรินเตอร์ POS

ลอรีอัล กรุ๊ป เตรียมแสดงวิสัยทัศน์ “ความงามไร้ขีดจำกัด”  (Limitless Beauty) เพื่อความงามแห่งอนาคตและยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ผ่านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR) และเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียง (Voice) ที่งาน วีวา เทคโนโลยี ปารีส 2019  (Viva Technology Paris) 

นางลูโบมิรา โรเช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัลของลอรีอัล กล่าวว่า "เราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ด้านความงามซึ่งมาพร้อมความหลากหลาย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  อีกทั้งยังสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการและความปรารถนาของคนทั่วโลก นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล อาทิ AR, AI และเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียง เปิดโอกาสให้เราสามารถมอบบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็วในแนวทางที่ยั่งยืน นอกจากนั้นยังสามารถผสานผู้บริโภคเข้ากับกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่และทุกเวลา"

เทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด Limitless Tech

  • นวัตกรรมหลักในปีนี้ ลอรีอัลจะนำเสนอเวอร์ชวลแฮร์แอดไวเซอร์ (Virtual Hair Advisor) ที่สร้างสรรค์โดย ModiFace บริษัทเทคโนโลยี AR และ AI ของลอรีอัล โดยใช้เทคโนโลยีการสั่งการด้วยเสียง เพื่อทดลองประสบการณ์เปลี่ยนสีผมแบบเสมือนจริงจาก Virtual Hair Advisor รวมถึงรับคำแนะนำต่าง ๆ จากทีมงานช่างผมมืออาชีพของแบรนด์ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล
  • สกินคอนซัลท์ โดยวิชี่ (SkinConsult) เป็นเทคโนโลยีวิเคราะห์ผิวแบบดิจิทัล ที่ลอรีอัลได้พัฒนาร่วมกับแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณการร่วงโรยแห่งวัย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเฉพาะบุคคล เทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานระหว่าง ModiFace และฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของลอรีอัล โดย SkinConsult เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาจากงานวิจัยทางวิทยาศาตร์เกี่ยวกับสัญญาณร่วงโรยแห่งวัยที่ได้มีการศึกษามากว่า 15 ปี
  • เอฟฟาคลาร์ สปอตสแกน โดยลา โรช-โพเซย์ (Effaclar Spotscan) เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่ลอรีอัลได้พัฒนาร่วมกับแพทย์ผิวหนัง เพื่อวิเคราะห์ผิวที่มีแนวโน้มเป็นสิว ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยสามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่ตรงกับปัญหาผิวของแต่ละบุคคล เพื่อรักษารอยสิว ป้องกันไม่ให้สิวอักเสบรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังได้ในกรณีที่มีความจำเป็น

บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลแบบไร้ขีดจำกัด Limitless Personalization 

  • เชด ไฟเดอร์ โดยลังโคม (Shade Finder) เป็นเทคโนโลยีสุดล้ำที่อาศัยความชาญฉลาดของ AI โดย Shade Finder สามารถแนะนำเฉดสีรองพื้นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ณ จุดขายได้โดยตรง สำหรับบริการนี้ได้เริ่มนำไปให้บริการแล้วทั่วโลก ณ จุดขายกว่า 1,000 แห่ง ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี 2562
  • ครั้งแรกที่ลอรีอัลเผยโฉมมายลิตเติลแฟคทอรี (My Little Factory) นวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเปิดทางสู่การผลิตครีมรองพื้นแบบที่ตรงกับความต้องการเฉพาะของลูกค้าในจำนวนมากในอนาคต

ความสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด Limitless Creativity: โซน 360° immersion ที่เปิดโอกาสให้สัมผัสกับเทรนด์ความงามจากทั่วโลก ซึ่งรวบรวมมาจากโซเชียลมีเดียโดยฝีมือของ AI

ความว่องไวไร้ขีดจำกัด Limitless Agility: นำเสนอเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติและการผลิตตามคำสั่งพิเศษ ผ่านการออกแบบน้ำหอมใหม่ของลังโคม และ วิคเตอร์แอนด์รอล์ฟ รวมถึงทดลองเครื่องจำหน่ายลิปสติก จิออร์จิโอ อาร์มานี แบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถลองเฉดสีแบบเสมือนจริงได้จากเทคโนโลยี ModiFace

สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการบัณฑิตศึกษา เปิดรับสมัครนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 จำนวน 4 หลักสูตร ตั้งแต่วันนี้ – 20 พฤษภาคม 2562 ดังนี้

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา (กลาง) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดบริการ “ประกันส่งออก SMEs Easy” เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนจะส่งออกหรือกำลังจะส่งออกด้วยมูลค่าในแต่ละครั้งไม่สูงนัก หรือกำลังจะไปเจรจาการค้าที่งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และต้องการความคุ้มครองความเสี่ยงจากการทำการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยบริการนี้คุ้มครองการส่งออกกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่อัตรา 85% ของมูลค่าความเสียหาย สมัครง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และสามารถเลือกรูปแบบวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมกับมูลค่าส่งออกได้สูงถึง 2 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ กรมสรรพากร และสภาวิชาชีพบัญชี ช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย กรณีเคยนำส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีอากรผิดพลาด ไม่ต้องกลัวเสียค่าปรับ-จ่ายเงินเพิ่ม หรือมีความผิดทางอาญา โดยให้ลงทะเบียนขอยกเว้นเบี้ยปรับฯ กับกรมสรรพากร พร้อมชำระเงินภาษีอากรส่วนขาดให้ครบทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 สำหรับงบการเงินฉบับแก้ไขให้นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทาง DBD e-Filing ...เพียงเท่านี้ ก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น เชื่อ!! แสดงข้อมูลอย่างโปร่งใส่ สบายใจทั้งรัฐและเอกชน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ กรมสรรพากร และสภาวิชาชีพบัญชี ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย กรณีเคยนำส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีอากรผิดพลาด โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ-จ่ายเงินเพิ่ม หรือ มีความผิดทางอาญา ภายใต้ พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความผิดทางอาญา เนื่องจากทั้ง 3 หน่วยงาน เข้าใจถึงสภาพการที่แท้จริงของเอสเอ็มอีว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องตามหลักการบัญชีและส่งผลให้ชำระภาษีไม่ครบถ้วนซึ่งอาจได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ช่วยบรรเทาภาระแก่ผู้ประกอบการที่ชำระภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้อง จึงได้ร่วมกันออกมาตรการฯ ดังกล่าวขึ้น”

“ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมมาตรการฯ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ (1) เป็นนิติบุคคลที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ มีรายได้ทางภาษี ไม่เกิน 500 ล้านบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ครบ 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561  (2) ได้ยื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.50) ของรอบบัญชีที่สิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562 (3) ไม่เป็นผู้ออก/ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฯ บังคับใช้ (25 มีนาคม 2562)”

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นที่จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มและได้รับการยกเว้นความผิดทางอาญา ต้องดำเนินการดังนี้ (1) ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากร (www.rd.go.th) และยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภท พร้อมทั้งชำระภาษีให้ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (2) ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงงบการเงินให้ถูกต้อง และ (3) ยื่นแบบภาษีอากรทุกประเภทผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากรต่อไปอีก 1 ปี (1 กรกฎาคม 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2563)”

“สำหรับแนวทางการปรับปรุงงบการเงิน ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดทำตัวอย่างประกอบความเข้าใจ เช่น กรณีตรวจพบว่าสินค้าในบัญชีสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้กรรมการไม่มีจริง กรณีที่ดินหรือสินทรัพย์อื่นที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกิจการแต่ไม่เคยบันทึกบัญชีไว้ เป็นต้น โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี www.tfac.or.th หัวข้อ ข่าวสารสภาวิชาชีพบัญชี หัวข้อย่อย “ตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจในการปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด” ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงงบการเงินแล้ว หากมีความประสงค์จะนำส่งงบการเงินฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดช่องทาง Fast Track อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยดำเนินการดังนี้ (1) แจ้งความประสงค์ขอแก้ไขและนำส่งงบการเงินฉบับใหม่ผ่าน Google Forms : https://forms.gle/Pg74RUXh4 rNu4uEh8 พร้อมแนบหลักฐานการลงทะเบียนกับกรมสรรพากร (2) เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแล้วจะแจ้งการเปิดสิทธิให้สามารถส่งงบการเงินฉบับใหม่ ผ่านทาง DBD e-Filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (3) เมื่อผู้ประกอบการส่งงบการเงินฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะอนุมัติให้แบบเร่งด่วน ทั้งนี้ ช่องทาง Fast Track จะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เท่านั้น หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือไปยังกองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”

อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “มาตรการภาครัฐดังกล่าว จะช่วยสร้างความโปร่งใสและยกระดับธรรมาภิบาลให้แก่ภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทำให้ภาคธุรกิจมีความน่าเชื่อถือสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น และสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ และที่สำคัญจะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้สะดวก รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีอากร ได้ที่กรมสรรพากร สายด่วน 1161 www.rd.go.th และการนำส่งงบการเงินผ่าน DBD e-Filing ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองข้อมูลธุรกิจ 0 2547 4377, 0 547 4390-91 e-Mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ สายด่วน 1570

X

Right Click

No right click