โค้ชชิ่ง ช่วยชาติ

August 09, 2019 8265

ท่ามกลางสถานการณ์ ที่มีความหลากหลายทางความคิด พรรคการเมืองใหญ่น้อย นำเสนอนโยบายต่างๆ ซึ่งล้วนสรุปแนวทางไม่ต่างกันนัก และที่สำคัญคือนโยบาย “แก้จน” โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่

นำเสนอเงินพิเศษ เพิ่มรายรับต่างๆ ซึ่งนโยบายเหล่านั้น จะช่วยให้คนจน ไม่จนได้จริงหรือไม่นั้น ทำให้นึกถึงตัวอย่างของผู้ถูกล็อตตารี่ การได้เงินแบบรวยข้ามคืน มีสถิติว่าคนส่วนใหญ่ มีโอกาสกลับไปจนเหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเงิน

การโค้ชมีกระบวนการอย่างไรในการพัฒนาความคิด พัฒนาแผนงานต่างๆ อย่างไรได้บ้างนั้น จึงขอ เกาะกระแสตามเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย ในปีนี้ ด้วยการนำกรณีศึกษา นโยบาย “การแก้จน” เข้าสู่กระบวนการโค้ช เพื่อท่านผู้อ่านทำความเข้าใจว่าการโค้ชคืออะไร? แบบไหน? และมีแนวทางในการโค้ชอย่างไร? โดยขอยกตัวอย่าง หัวข้อยอดฮิต ติดอันดับ ที่เชื่อว่าชาวไทยทุกหมู่เหล่า ยากดีมีจน ล้วนคุ้นหู สนใจติดตามนโยบาย แก้จน ของเหล่าพรรคการเมือง ทั้งนี้หากเริ่มนำหัวข้อ การแก้จน เข้าสู่กระบวนการโค้ช ด้วยการไล่เลียงตั้งคำถาม จากจุดเริ่มต้น สู่เป้าหมายคือประชาชนอยู่ดี กินดีมีสุข มีเงินเต็มกระเป๋า ไม่ยากจนเงินทอง ทั้งนี้อาจนำเกณฑ์การตั้งคำถามตามหลักการโค้ชที่มีอยู่หลายรูปแบบมาใช้ในกระบวนการโค้ช อาทิ

การนำใช้GROW Model โดยเริ่มจาก Goal หรือเป้าหมาย คือความยากจนจะได้รับการแก้ไข หมายถึงประชาชนมีเงินใช้ไม่ขัดสน เมื่อมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนแล้ว

กระบวนการโค้ชจะนำคำถามสู่ความจริงที่เป็นอยู่ Reality การตระหนักถึงความจริงที่เผชิญอยู่นี้สำคัญนัก เพราะสถานการณ์จริงที่มีอยู่หลากหลาย อาจลองแบ่งความจริงเบื้องต้น อาทิเช่น

ประเภทประชาชนขาดความรู้ ขาดการศึกษาพื้นฐานซึ่งยังสามารถพบได้จำนวนมากในทุกพื้นที่ของประเทศ

ประเภทประชาชนที่ขาดความเข้าใจในการดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงขาดความมุ่งมั่นในการทำงานที่จริงจัง

ประชาชนอีกหลายแบบที่ความจริงคือ จนเมื่อกระบวนการโค้ชถึงจุดนี้ คงจะเห็นแล้วว่าความจริงของสถานการณ์นี้มีหลายรูปแบบ ซึ่งการแก้ปัญหาตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาสัมพันธ์ ยังไม่ได้ตอบโจทย์ของความจริงที่มีอยู่

จากขึ้นตอนการโค้ชเพื่อความเข้าใจ การตระหนักรู้ถึงความจริงของสถานการณ์ที่เป็นอยู่แล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการโค้ชในช่วง Option ทางเลือก (หรือ Obstacle อุปสรรค) โดยคำถามจะนำสู่ความคิดเชิงบวก เพื่อช่วยให้ผู้รับการโค้ชสามารถใช้ความคิด ศึกษาค้นคว้าหาแนวทางเลือกที่เหมาะสมกับความจริง ดังตัวอย่างประเภทความยากจนข้างต้น อาทิ ประเภทที่ขาดความรู้ การศึกษานโยบายพรรคอาจเสนอการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งกระบวนการโค้ชนั้นจะมีคำถามที่ลึกซึ้ง ถึงรายละเอียด ในวิธีการถามถึงแนวทางการดำเนินการของทางเลือกนั้นอันรวมถึง ผลกระทบเชิงบวก เชิงลบ ข้อจำกัด และความเป็นไปได้ ที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้ได้รับการโค้ชจะสามารถประเมินวิธีการและผลลัพธ์ที่ต้องการของทางเลือกแต่ละแบบ ซึ่งจะพบว่าการให้เงินเพิ่มรายรับเป็นครั้งคราว โดยไม่เสริมสร้างความรู้ ความสามารถ ศักยภาพของประชาชนส่วนใหญ่อย่างจริงจัง อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความจริงเพื่อการแก้ความยากจน ดังนั้น การโค้ชจึงช่วยให้ผู้รับดารโค้ช สามารถคิดอย่างมีรายละเอียด โดยมีโค้ชร่วมลงเรือละเดียวกันเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ ที่มีทักษะในการถามตามกระบวนการโค้ชอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผู้รับการโค้ชสามารถเลือกแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด สู่การปฏิบัติจริง Way Forwards (หรือ Will) ซึ่งกระบวนการโค้ชในขั้นตอนสุดท้าย ที่ผู้รับการโค้ชจะสามารถกำหนดวิธีการดำเนินการ ที่มีรายละเอียดพร้อมการกำหนดแนววิธีปฏิบัติตามเวลาที่จะประมาณการณ์ไว้อย่างชัดเจน จึงอาจสามารถนำเสนอได้หลายแนวทาง แต่สุดท้ายการโค้ชจะนำไปสู่การเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติที่เป็นไปได้ เพื่อผลลัพธ์ตามความมุ่งหมาย

นอกจากตัวอย่างกระบวนการโค้ชเรื่องนโยบายแก้การยากจนเงินทองแล้ว การโค้ชยังสามารถช่วยหาทางออกของการจนใจได้ด้วยกระบวนการโค้ช โดยเริ่มจากจุดเริ่มต้นหนึ่ง ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายปลายทางไว้แล้ว แต่ยังไม่ค้นพบวิธีการดำเนินการหรือทางออกที่เหมาะสม ผู้ถูกโค้ชที่จนใจจะค่อยๆ ตอบคำถามของโค้ช ซึ่งจะช่วยย่อยรายละเอียดความคิด ความรู้สึกที่ซับซ้อน หรือซ่อนอยู่ในเบื้องลึกจนไม่ได้นำออกมาคิดในเชิงรูปธรรมของผู้รับการโค้ช จนกระทั่งผ่านกระบวนการ การโค้ชจะช่วยสร้างการตระหนักรู้ สะท้อนความคิดของผู้รับการโค้ช ให้สามารถย่อยความคิด กลั่นกรองความรู้สึก จากคำถามและคำตอบ จนสามารถสร้างแนวทางสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจ

การโค้ช ช่วยชาติ ช่วยหลายๆ คนได้ โดยกระบวนการโค้ชจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับการฝึกทักษะการโค้ช สามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะในการกระบวนการคิด และมีเป้าหมาย ไม่ใช้อารมณ์ ความรู้สึกเป็นเกณฑ์ ประเทศที่เจริญแล้ว จึงนำวิธีการโค้ชมาใช้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มเข้าวัยเรียน จากวิธีการเรียน การสอน ด้วยแนวทางการโค้ช จะเสริมสร้างให้เด็กคำนึงถึงการหาเหตุผลและเป้าหมายของการกระทำต่างๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและ สนับสนุนให้เด็กๆ มีพัฒนาการในการใช้ความคิด สืบค้นข้อมูลและนำสู่แนวทางเลือกและทางปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

การโค้ชในระดับสากลมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้พื้นฐานของโค้ช อาทิ โค้ชชีวิต (Life coach) การโค้ชเพื่อช่วยให้ผู้ได้รับการโค้ชค้นพบเป้าหมาย ความต้องการ ข้อกังขาที่แท้จริง และแนวทางแก้ปัญหา ในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิต หรือครอบครัว ซึ่งโค้ชจะมีทักษะการดำเนินชีวิตและครอบครัว เข้าใจความลึกซึ้งของความคิด ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของประเด็นต่างๆ ในชีวิต โค้ชจะค่อยๆ ตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้รับการโค้ชสามารถคิดในหลายมิติที่ตนเองอาจไม่ได้ตระหนักถึงมาก่อน กระบวนการโค้ชจะดำเนินต่อเนื่องภายในชั่วโมงนั้น กระทั่งผู้ได้รับการโค้ชพบแนวทางเลือกและแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้การโค้ชอย่างสากล ยังมีการโค้ชการเงิน (Finance Coaching) การโค้ชสุขภาพ (Health Coaching) การโค้ชการศึกษา (Education Coaching) การโค้ช ADHA การโค้ชอาชีพ (Career Coaching) การโค้ชธุรกิจ (Business Coaching) และที่เราอาจคุ้นเคยในองค์กรธุรกิจ อย่างการโค้ชผู้บริหาร (Executive coaching) หรือ การโค้ชการบริหารจัดการ (Management Coaching) ซึ่งจะมุ่งเน้นประเด็นในด้านการบริหารจัดการงาน ทีมงาน การพัฒนากระบวนการทำงาน และธุรกิจ ซึ่งคำถามในกระบวนการโค้ชอาจครอบคลุมถึงเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน เรื่องที่เกี่ยวข้องที่ผู้ได้รับการโค้ชคำนึงถึงและเป็นเหตุปัจจัยการขับเคลื่อนความคิด เพื่อการพัฒนาไปข้างหน้าสู่เป้าหมายของการโค้ช

กระบวนการโค้ชตามหลักสากล อาทิ สหพันธ์การโค้ชนานาชาติ จะเริ่มจากการสร้างสานความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับการโค้ช (Rapport) แล้วจึงเข้าสู่ประเด็นที่จะโค้ช นำไปถึงกระบวนการโค้ช ด้วยคำถามแต่ละขั้นตอน กระทั่งถึงจุดหมายปลายทางของเป้าหมายการโค้ช ดังนั้นการโค้ชจึงหมายถึงความสำคัญของโค้ชในการตั้งคำถาม การฟัง ความเข้าใจในความหมาย ความสำคัญ และบริบทจากข้อความของผู้รับการโค้ช จะเห็นว่าการโค้ชมีรายละเอียดและความละเอียดอ่อนเชิงจิตวิทยาในส่วนนี้ ดังนั้นโค้ชหรือผู้นำกระบวนการคิดด้วยคำถาม สู่ความรู้สึก การตระหนักรู้ และขั้นตอนการคิดนั้นจึงมีความสำคัญ

โค้ชมืออาชีพส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้ จะได้รับการเรียนรู้เชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากสถาบันการโค้ชที่ได้รับการรับรองจากหลักสูตรการโค้ชสากลอันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อาทิ ICF (International Coach Federation) นอกจากการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติเก็บชั่วโมงต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการตั้งคำถามแล้วนั้น โค้ชมืออาชีพยังต้องเรียนรู้กฎกติกา จรรยาบรรณ (Code of Ethics) หลักแห่งการประพฤติที่ดีงาม เกี่ยวกับอาชีพ วิชาชีพ ศีลธรรม (Morality) เพื่อการขัดเกลาความคิดสู่มาตรฐาน การรักษาความลับ การเป็นส่วนตัวของผู้รับการโค้ชและข้อความ เรื่องราวในการโค้ชนั้นๆ

นอกจากขั้นตอนการเรียนรู้กระบวนการโค้ชและกติกามารยาทแล้ว โค้ชมืออาชีพส่วนใหญ่ยังต้องผ่านการสอบมาตรฐานการโค้ช ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ใช้ในระดับสากล ถือเป็นเกณฑ์พื้นฐานวิชาชีพโค้ช ทั้งนี้จะพบว่าความสามารถ ศักยภาพของโค้ช มีแตกต่างกัน ในแต่ละบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพส่วนบุคคล องค์ความรู้ ประสบการณ์ของโค้ชแต่ละคน นำสู่มุมมองและมิติในการสร้างคำถามที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีการจัดประเภทของการโค้ชตามรูปแบบการโค้ช และความเชี่ยวชาญของโค้ชนั่นเอง

ผู้ที่สนใจรับการโค้ช อาจหมายรวมถึง เยาวชน ผู้บริหาร นักธุรกิจ โดยเฉพาะนักทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันนี้ สนใจจัดการโค้ชกลุ่ม และโค้ชส่วนบุคคลเพื่อการพัฒนาบุคลากรให้ตรงจุด สู่เป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นการโค้ชจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในแวดวงการพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ เพราะประสิทธิภาพ ศักยภาพ และประสิทธิผลที่ได้รับจากบุคลากร มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากองค์กรให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ (ต้นทุน) และมีการวัดค่างานของบุคลากรอย่างชัดเจน

การโค้ชช่วยชาติ เพราะเรา ชาวไทยทุกคน ทุกวัย สามารถใช้กระบวนการโค้ช การตั้งคำถาม เพื่อการโค้ชตนเองเบื้องต้น ด้วยกระบวนการโค้ชช่วยให้คิดอย่างเป็นระบบและมีตรรกะ โดยการตั้งเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจน เข้าใจจุดเริ่มต้น ตระหนักถึงความจริงในมิติต่างๆ แล้วหาทางเลือกหรือรู้ถึงอุปสรรค เพื่อพบแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ


เรื่อง : โค้ช สิริษา แสงไชย  |  โค้ชด้านงานบริหารจัดการ,  SCH Coaching Program

Last modified on Friday, 03 April 2020 16:58
X

Right Click

No right click